ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์แตกต่างกันหรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้ ควรจะเลือกยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อไหนดี
การคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยการใส่ห่วงอนามัยทองแดง (Copper Intrauterine Device; Cu-IUD) ค่ะ
โดยให้สูตินรีแพทย์ใส่ห่วงอนามัยทองแดงภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน (หรือภายใน 5 วันหลังไข่ตก หากสามารถประมาณเวลาที่มีการตกไข่ได้)
ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก นั่นคือมีอัตราการตั้งครรภ์ไม่ถึง 1 ใน 100 แล้ว ก็ยังให้ผลคุมกำเนิดต่อเนื่องได้นานหลายปี จึงสามารถใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดกึ่งถาวรต่อได้เลย
หรือหากไม่สะดวกที่จะใช้ห่วงอนามัยทองแดง ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้ ก็อาจพิจารณาการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า อีกทั้งไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง แต่ก็หาซื้อได้ง่าย และสามารถใช้ได้ด้วยตนเอง
ซึ่งหากแบ่งชนิดของยาฉุกเฉินตามตัวยาสำคัญ ยาคุมฉุกเฉินแต่ละชนิดก็จะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป รวมถึงมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังที่ต่างกันค่ะ
อย่างไรก็ตาม ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด หรือรูปแบบใด ก็ล้วนเป็นชนิดเดียวกัน นั่นคือ ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel Emergency Contraception; LNG-EC)
โดยยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด เช่น เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte), แทนซี วัน (Tansy one), มาดอนน่า วัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) และ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte) จะมีตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลเม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม
ส่วนยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด เช่น โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) และ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox) จะมีตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลอยู่เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม เมื่อรวมกัน 2 เม็ดจึงเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัม
จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ยี่ห้อมีลีโวนอร์เจสเทรลเป็นตัวยาสำคัญ โดยมีปริมาณรวมทั้งแผงเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัม
ซึ่งวิธีการใช้ในปัจจุบัน หลายแนวทางแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล แบบครบขนาด 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียวนะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ยาคุมฉุกเฉิน กินพร้อมกัน 2 เม็ดได้ไหม)
โดยควรรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้า ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
หากรับประทานครบขนาดภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ราว 85% แต่จะยิ่งลดต่ำลงอีกหากใช้ล่าช้าไปกว่านี้
ดังนั้น หากยี่ห้อที่ใช้เป็นแบบ 2 เม็ด ก็ให้รับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว ส่วนยี่ห้อที่เป็นแบบ 1 เม็ดอยู่แล้ว ก็ให้รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว
หรือจะใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ดตามวิธีดั้งเดิม นั่นคือ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด รวม 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะให้ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็สามารถทำได้เช่นกัน
เมื่อยาคุมฉุกเฉินแต่ละยี่ห้อที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกัน, ปริมาณยารวมทั้งแผงเท่ากัน และสามารถรับประทานครบขนาดในครั้งเดียวได้เหมือนกัน ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกันค่ะ
หากจำเป็นจะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน จึงสามารถใช้ยี่ห้อใดก็ได้ ที่หาซื้อได้สะดวก หรือได้รับมาฟรีตามสิทธิ์การรักษา เนื่องจากทุก ๆ ยี่ห้อที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้เหมือนกันนะคะ
แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้ก็คือ ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้มีประสิทธิภาพสูง และแม้จะรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเร็วแค่ไหนก็ตาม ก็อาจป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ หากใกล้ถึงเวลาที่ไข่จะตกมากเกินไป หรือมีไข่ตกมาแล้ว
จึงไม่ควรนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกติ แต่ควรใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็น เช่น ถูกข่มขืน หรือเกิดความล้มเหลวจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ เช่น ถุงยางฉีกขาด, รับประทานยาคุมรายเดือนผิดหรือลืมใช้จนทำให้ไม่มีผลคุมต่อเนื่อง หรือลืมไปฉีดยาคุมตามนัด
และหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอีก โดยเฉพาะในรอบเดือนเดียวกัน อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์มากกว่าผู้ที่ไม่มี จึงควรป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมค่ะ
ตัวอย่างยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
ยี่ห้อ |
รูปแบบ |
การขึ้นทะเบียน |
ราคา |
โพสตินอร์ (Postinor) |
2 เม็ด |
ยานำเข้าจากต่างประเทศ / แบ่งบรรจุในประเทศ |
60 – 90 บาท |
มาดอนน่า (Madonna) |
2 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
50 – 70 บาท |
แมรี่ พิงค์ (Mary pink) |
2 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
40 – 50 บาท |
แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak) |
2 เม็ด |
ยานำเข้าจากต่างประเทศ |
40 – 50 บาท |
เลดี้นอร์ (Ladynore) |
2 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
40 – 50 บาท |
แจนนี่ (Janny) |
2 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
40 – 50 บาท |
เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox) |
2 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
50 – 70 บาท |
โพสต์ 1 ฟอร์ต |
1 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
40 – 50 บาท |
เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte) |
1 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
50 – 70 บาท |
มาดอนน่า วัน (Madonna one) |
1 เม็ด |
ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
50 – 70 บาท |
แทนซี วัน (Tansy one) |
1 เม็ด |
ยานำเข้าจากต่างประเทศ |
60 – 90 บาท |
รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) |
1 เม็ด |
ยานำเข้าจากต่างประเทศ |
50 – 70 บาท |
เอกสารอ้างอิง
- Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.