เริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนหลังคลอด 45 วัน แล้วผ่านมา 6 วันก็มีเพศสัมพันธ์หลั่งใน จะเสี่ยงตั้งครรภ์อีกมั้ย เพราะยังไม่ครบ 7 วันหลังฉีดเข็มแรก
ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน หรือ Depot Medroxyprogesterone acetate (DMPA) เป็นฮอร์โมนชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว จึงเป็นทางเลือกสำหรับคุมกำเนิดในระหว่างที่ให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้เอสโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
หลังจากที่คลอดบุตรแล้ว ผู้หญิงที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนใหญ่จะเริ่มมีไข่ตกใน 45 – 94 วันถัดมา แต่บางรายก็อาจมีไข่ตกเร็วกว่านั้นได้ค่ะ
องค์การอนามัยโลก และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา จึงแนะนำว่า ผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนได้ทันทีหลังคลอด เนื่องจากไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
ซึ่งต่างจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภายใน 3 หรือ 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้มากกว่าช่วงเวลาอื่น
ไม่ว่าจะฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนทันที หรือเริ่มฉีดหลังคลอดมาไม่ถึง 21 วัน ก็ถือว่ามีผลป้องกันได้เลย จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยนะคะ
ถ้าคลอดมาแล้วตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป ในกรณีที่ยังไม่มีประจำเดือนมา หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ จะเริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีดยาคุมเข็มแรก
แต่ถ้าประจำเดือนมาแล้ว ควรรอฉีดภายใน 7 วันแรกที่มีประจำเดือน และจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดทันที จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
สรุปแนวทางในการเริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนสำหรับผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตามคำแนะนำการใช้วิธีคุมกำเนิดขององค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ได้ดังนี้
การเริ่มฉีดยาคุมหลังคลอดสำหรับผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่3,4 |
|
ระยะเวลาหลังคลอด |
คำแนะนำ |
น้อยกว่า 21 วัน |
เริ่มฉีดได้เลย และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย |
ตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป |
ถ้าประจำเดือนยังไม่มา จะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
ถ้าประจำเดือนมาแล้ว ให้เริ่มฉีดภายใน 7 วันแรกที่มีประจำเดือน และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
หรือจะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
อย่างไรก็ตาม ถ้ายึดตาม คู่มือการวางแผนครอบครัว ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานทางสาธารณสุข จะกำหนดช่วงเวลาเป็น “น้อยกว่า 4 สัปดาห์” และ “ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป” ค่ะ5
ในขณะที่ การให้ลูกดูดนมจากเต้าสม่ำเสมอ จะทำให้มีไข่ตกช้ากว่า ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ควรรอให้คลอดครบ 6 สัปดาห์3,5 หรือ 1 เดือน4 เป็นอย่างน้อย จึงค่อยเริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนนะคะ
เพราะแม้ยังไม่พบว่าการฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน จะส่งผลเสียใด ๆ ต่อการให้นม หรือต่อสุขภาพของทารก แต่งานวิจัยในกลุ่มหญิงให้นมบุตรที่เริ่มฉีดยาคุมชนิดนี้ก่อน 6 สัปดาห์หลังคลอด ยังมีข้อจำกัดด้านคุณภาพ
และถ้าเทียบกับวิธีคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบอื่น ๆ การฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนอาจขับฮอร์โมนออกทางน้ำนมในระดับที่สูงกว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจึงมีความเห็นว่า ควรรอให้กระบวนการกำจัดยาของทารกทำงานได้สมบูรณ์ก่อนค่ะ
สรุปแนวทางในการเริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนสำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตามคำแนะนำการใช้วิธีคุมกำเนิด และคู่มือการวางแผนครอบครัว ขององค์การอนามัยโลก ได้ดังนี้
การเริ่มฉีดยาคุมหลังคลอดสำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่3,5 |
|
ระยะเวลาหลังคลอด |
คำแนะนำ |
น้อยกว่า 6 สัปดาห์ |
ควรรอให้ครบ 6 สัปดาห์ก่อนจึงเริ่มฉีด |
ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 6 เดือน
|
ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว และยังไม่มีประจำเดือนมา เริ่มฉีดได้เลย และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย |
ถ้าไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว จะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
|
ถ้าประจำเดือนมาแล้ว ให้เริ่มฉีดภายใน 7 วันแรกที่มีประจำเดือน และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
หรือจะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
|
ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป |
ถ้าประจำเดือนยังไม่มา จะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
ถ้าประจำเดือนมาแล้ว ให้เริ่มฉีดภายใน 7 วันแรกที่มีประจำเดือน และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
หรือจะเริ่มฉีดเมื่อไหร่ก็ได้หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังฉีด |
อย่างไรก็ตาม ถ้ายึดตาม คำแนะนำการใช้วิธีคุมกำเนิด ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา คำว่า “6 สัปดาห์” ในตาราง จะถูกปรับเปลี่ยนเป็น “1 เดือน” แทนนะคะ4
อีกทั้งยังระบุว่า ในกรณีที่จำเป็น ก็สามารถฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนทันที หรือก่อนที่จะครบ 30 วันหลังคลอดได้4 และเริ่มให้ผลป้องกันเลย โดยไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยค่ะ
จากกรณีตัวอย่าง การที่จะตอบได้ว่าถ้าเริ่มฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนหลังคลอด 45 วัน จะให้ผลคุมกำเนิดทันทีหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าผู้ถามมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเปล่านะคะ
หากผู้ถามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว และให้ลูกดูดนมจากเต้าสม่ำเสมอทุก 2 – 3 ชั่วโมง หรือไม่เว้นช่วงห่างเกิน 4 ชั่วโมงในเวลากลางวัน และไม่เกิน 6 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ก็น่าจะยังไม่มีไข่ตกค่ะ
และในกรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว + ยังไม่มีประจำเดือนมา + ระยะเวลาหลังคลอดยังไม่ถึง 6 เดือน เมื่อฉีดยาคุมเข็มแรกแล้วก็จะถือว่ามีผลป้องกันได้ทันที จึงมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย
การมีเพศสัมพันธ์หลั่งใน ในระหว่างที่มีผลป้องกันจากยาคุมแบบที่ฉีดทุก 3 เดือน มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมากจนไม่น่าจะกังวลนะคะ นั่นคือ โดยทั่วไป (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 4% แต่ถ้าฉีดยาคุมถูกต้องตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.2%5,6
อย่างไรก็ตาม หากผู้ถามไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือมีการป้อนนมอื่นร่วมด้วย ก็อาจมีไข่ตกได้เร็วกว่าค่ะ
ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว + เริ่มฉีดยาคุมหลังคลอดตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป แม้ผู้ถามจะยังไม่มีประจำเดือนมา ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วันหลังฉีดนะคะ
ซึ่งถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันไปแล้ว ก่อนที่จะมีผลคุมกำเนิดจากยาฉีด ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel Emergency Contraception; LNG-EC) ซึ่งสามารถใช้ในขณะที่ให้นมบุตรได้
หากผู้ถามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สลับกับการป้อนนมอื่น ก็ไม่จำเป็นจะต้องงดให้นม หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “ให้นมลูก กินยาคุมฉุกเฉินได้ไหม”)
เอกสารอ้างอิง
- Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use.Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.