ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในระยะที่ยังให้นมลูกอยู่ เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์มั้ย สามารถกินยาคุมฉุกเฉินได้ไหม เป็นอันตรายต่อเด็กหรือเปล่า ต้องงดให้นมหรือไม่และนานแค่ไหน
โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
- การมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ยังให้นมลูกอยู่ เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์มั้ย
- หญิงให้นมลูก กินยาคุมฉุกเฉินได้ไหม ต้องงดให้นมหรือไม่ อย่างไร
การมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ยังให้นมลูกอยู่ เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์มั้ย
หญิงหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินออกมา เพื่อไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมให้เพียงพอสำหรับทารก
แต่นอกจากจะกระตุ้นการสร้างน้ำนมแล้ว ฮอร์โมนโปรแลคตินก็ยังไปยับยั้งไม่ให้มีไข่ตกอีกด้วยค่ะ การให้นมลูกจึงถือว่าเป็นวิธีหนึ่งในการคุมกำเนิดหลังคลอด โดยมีชื่อเรียกว่า Lactational Amenorrhea Method หรือ LAM
ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 2%
แต่การคุมกำเนิดด้วยการให้นมลูกจะมีประสิทธิภาพสูงตามที่กล่าวไปข้างต้นได้ จะต้องมีการกระตุ้นเต้านมอย่างเหมาะสม โดยการดูดนมที่แรง, มีจังหวะสม่ำเสมอ, ติดต่อกันเป็นเวลานาน และให้นมซ้ำทุก 2 – 3 ชั่วโมงนะคะ
หากมีความเสี่ยงใด ๆ ที่ทำให้การกระตุ้นเต้านมไม่แรง, ไม่สม่ำเสมอ และไม่นานเพียงพอ หรือทิ้งเวลาห่างกันเกินไป ยกตัวอย่างเช่น มีการป้อนน้ำหรืออาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกอิ่มและกินนมได้น้อยลง หากเทียบกับการให้นมแม่เพียงอย่างเดียว, การเจ็บป่วยของแม่หรือลูก, การใช้จุกนมหลอก เป็นต้น ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วย LAM ในผู้ที่ใช้การปั๊มนม ก็อาจด้อยกว่าการให้ลูกดูดนมโดยตรงจากเต้าด้วยนะคะ
ดังนั้น การคุมกำเนิดด้วยการให้นมลูก จะเป็นที่ยอมรับในผู้ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการ ดังนี้
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง (ไม่เว้นช่วงห่างเกิน 4 ชั่วโมงในเวลากลางวัน หรือห่างเกิน 6 ชั่วโมงในเวลากลางคืน)
- คลอดมาแล้วไม่ถึง 6 เดือน
- ยังไม่มีประจำเดือนมา
การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้ยาคุมรายเดือน, ฉีดยาคุม, ฝังยาคุม นอกจากจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าแล้ว ก็น่าจะให้ความมั่นใจได้มากกว่าการคุมกำเนิดด้วยการให้นมลูก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจะขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งไป
หญิงหลังคลอด ที่แม้จะต้องการให้นมลูก จึงมักจะได้รับคำแนะนำให้เริ่มคุมกำเนิดด้วยวิธีมาตรฐานต่าง ๆ โดยไม่หวังผลป้องกันจาก LAM เพียงอย่างเดียว เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ก่อนเวลาที่เหมาะสม
สรุปก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ยังให้นมลูกอยู่ มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว หรือมีการกระตุ้นเต้านมที่ไม่แรง/ไม่สม่ำเสมอ/ไม่นาน/ไม่บ่อย รวมถึงในกรณีที่คลอดมานาน 6 เดือนขึ้นไป หรือมีประจำเดือนมาแล้ว
หญิงให้นมลูก กินยาคุมฉุกเฉินได้ไหม ต้องงดให้นมหรือไม่ อย่างไร
ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนโปรเจสติน โดยใช้ตัวยาที่มีชื่อว่า ลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel Emergency Contraception; LNG-EC) ซึ่งไม่ยับยั้งการสร้างน้ำนม และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำนมหรือระยะเวลาการให้นมค่ะ
ดังนั้น แม้จะยังให้นมลูกอยู่ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีผลคุมกำเนิดจากการให้นมหรือไม่ และมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ได้ป้องกันด้วยวิธีมาตรฐานอื่น ๆ หรือเกิดความผิดพลาดจากวิธีป้องกันที่ใช้ ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้นะคะ
อย่างไรก็ตาม หญิงที่คลอดบุตรยังไม่ถึง 21 วัน มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะมีไข่ตก ดังนั้น แม้จะไม่มั่นใจว่ามีผลคุมกำเนิดจากการให้นมหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินร่วมด้วย
ซึ่งคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) แนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินในกรณีที่คลอดบุตรมาแล้วตั้งแต่ 21 วันขึ้นไปค่ะ
ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูลิพริสทอล อะซิเตท ที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ ผู้ผลิตให้คำแนะนำว่าควรงดให้นมลูกไปอีก 1 สัปดาห์หลังใช้ยา2, 6 หรืออย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังรับประทาน4 เนื่องจากยามีการขับออกทางน้ำนม และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อทารกหรือไม่ โดยในระหว่างที่งดให้นม ควรบีบนมทิ้งเรื่อย ๆ เพื่อให้มีการกระตุ้นการสร้างน้ำนมต่อไป
แต่สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีการขับออกทางน้ำนมเช่นกัน แต่ไม่พบว่ามีอันตรายหรือความเสี่ยงใด ๆ ต่อทารก จึงสามารถให้นมต่อได้ตามปกตินะคะ
หรือหากมีความกังวล ก็อาจให้นมหรือปั๊มนมไว้ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยรับประทานยาคุมฉุกเฉิน จากนั้นก็งดให้นมในช่วง 8 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ตามคำแนะนำของผู้ผลิตบางราย ก็ได้เช่นกันค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- Medical eligibility criteria for contraceptive use, 5th edition. World Health Organization, 2015.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 2016.
- FSRH Guideline: Contraception After Pregnancy, 2017. (Amended October 2020)
- FSRH Guidance: Emergency Contraception, 2017. (Amended December 2020)