หลายคนอาจเคยได้ยินคำเตือนที่ว่า “ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง” มาบ้างแล้ว โดยข้อความที่บอกต่อกันมาก็มีทั้ง “ต่อเดือน”, “ต่อปี” และ “ตลอดชีวิตของเรา”
แต่ทราบหรือไม่ว่าข้อความที่ถูกต้องคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และยังใช้กันอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน
ในอดีต เมื่อมีการนำตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ขนาดสูงมาใช้เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน และพบรายงานการตั้งครรภ์นอกมดลูกในผู้ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ผล ทำให้เกิดความกังวลว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจเพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
ที่ต่างประเทศ ได้มีการกำหนดคำเตือนไว้ในฉลากยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลแบบ 2 เม็ด (เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวที่มีใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ว่า “No more than 4 tablets may be taken per month”
กระทรวงสาธารณสุขของเราจึงกำหนดให้บริษัทยาต้องแสดงข้อความ “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน” เป็นคำเตือนไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยาคุม “โพสตินอร์” และ “มาดอนน่า” ที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในขณะนั้น
หากปรับคำเตือนดังกล่าวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล มีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งรูปแบบ 2 เม็ด (เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม) และรูปแบบ 1 เม็ด (เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม) ก็จะเป็น “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 แผงต่อเดือน” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติมกลับพบว่าการตั้งครรภ์นอกมดลูกในกลุ่มที่ใช้ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้สูงไปกว่าที่พบในกลุ่มประชากรทั่วไป
และเมื่อได้ข้อสรุปว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ในปี พ.ศ.2543 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำสั่งปรับปรุงแก้ไขการแสดงรายละเอียดในฉลากและเอกสารกำกับยาให้เหมาะสม โดยไม่ต้องแสดงข้อความ “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน” แล้วค่ะ
นั่นหมายถึง ไม่ว่าในเดือนนั้นจะเคยรับประทานยาคุมฉุกเฉินมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉินอีก ก็สามารถรับประทานซ้ำได้เสมอ1,2
แม้ว่าจะยกเลิกคำเตือนเกี่ยวกับการจำกัดจำนวนการใช้ไปแล้ว อีกทั้ง องค์การอนามัยโลกก็ยังยืนยันถึงความปลอดภัย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล3 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้นำยาคุมฉุกเฉินมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกตินะคะ
เพราะต้องไม่ลืมว่า ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานมาก จึงควรใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็น เช่น ถูกข่มขืน หรือเกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ เช่น ถุงยางฉีกขาดหรือลืมรับประทานยาคุมรายเดือน
การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นครั้งคราว แทนการใช้ยาคุมรายเดือนต่อเนื่อง หรือแทนการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แม้จะใช้ไม่บ่อย เช่น ไม่เกิน 1 – 2 ครั้ง/เดือน ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะมีความเสี่ยงที่จะป้องกันไม่ได้ผลและเกิดปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมมากกว่าที่ควรจะเป็น
สรุปก็คือ เนื่องจากไม่พบว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลจะทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงหรือถาวรใด ๆ ในปัจจุบันจึงไม่ได้มีข้อจำกัดว่าห้ามใช้เกินเดือนละกี่ครั้ง
ดังนั้น ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน และไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ก็รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลได้ แม้จะเคยใช้มาแล้วก็ตาม โดยไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงจากยา
แม้ว่าประสิทธิภาพจะไม่สูงนัก แต่ก็อาจช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ได้บ้าง จึงดีกว่าที่จะไม่ป้องกันเลย
แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดปกติ แม้จะใช้เดือนละไม่กี่ครั้ง หรือว่านาน ๆ จะใช้ที เพราะต่อให้รับประทานครบขนาดและทันเวลา ก็ยังเสี่ยงที่จะป้องกันไม่ได้ผล มากกว่าการใช้วิธีคุมกำเนิดมาตรฐานค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Emergency contraception. Practice Bulletin No. 152. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2015;126:e1–11.
- Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
- Fact sheet on the safety of levonorgestrel-alone emergency contraceptive pills (LNG-ECPs) Geneva: World Health Organization; 2010.