เม็ดยาหลอกทำให้อ้วนมั้ย

เม็ดยาหลอกทำให้อ้วนมั้ย

                คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าคะ ที่เลือกใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดแทนยาคุมแบบ 28 เม็ด หรือแกะเม็ดแป้งในแผงยาคุม 28 เม็ดทิ้งแทนการรับประทาน เพราะกังวลว่าเม็ดแป้งจะทำให้อ้วน

                ถ้าใช่… อยากให้อ่านบทความนี้ต่อจนจบนะคะ

 

                การใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด แล้วต้องเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ เพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา อาจทำให้ผู้ใช้บางรายลืมต่อแผงใหม่ตามกำหนด หรือสับสนว่าควรเริ่มรับประทานแผงใหม่เมื่อไหร่

                เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ผลิตจึงได้จัดทำเม็ดยาหลอก หรือที่บางคนเรียกว่าเม็ดแป้ง เพิ่มเข้ามาในแผงจนครบ 28 เม็ด ก็เพื่อให้ผู้ใช้ยาคุม ได้รับประทานเม็ดยาหลอก 1 เม็ด แทนการเว้นว่าง 1 วัน เป็นการเตือนให้ทราบว่า เมื่อรับประทานหมดแผงแล้ว ก็ต่อยาคุมแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย

 

                มียาคุมหลายยี่ห้อ ที่มีจำหน่ายทั้ง 2 รูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นยาคุม 21 เม็ดหรือ 28 เม็ด จำนวนเม็ดยาฮอร์โมนในแผง รวมถึงชนิดและปริมาณของตัวยาสำคัญในเม็ดยาฮอร์โมนก็เหมือนกัน ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจึงไม่แตกต่างกันเลยค่ะ อีกทั้ง ยังมีราคาจำหน่ายเท่ากัน การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้รูปแบบใด จึงขึ้นอยู่กับความถนัดหรือความเสี่ยงของผู้ใช้แต่ละราย

                ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากังวลว่าการเว้นว่าง 7 วันจะทำให้ลืมต่อยาคุมแผงใหม่ ก็เลือกยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่ใช้ต่อเนื่องกันทุกวันโดยไม่ต้องเว้นว่างระหว่างแผง

                แต่เนื่องจากยาคุมแบบ 28 เม็ด มักเรียงลำดับการใช้เป็นตัวเลข 1 – 28 ซึ่งทำให้ตรวจสอบประจำวันได้ยากกว่าการระบุเป็นตัวย่อของวันในสัปดาห์ ผู้ที่กังวลว่าจะรับประทานซ้ำซ้อนกันโดยไม่ตั้งใจ หรือพลาดการใช้ในวันใดวันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว การใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

                ด้วยเพราะเห็นว่ายาคุม 21 เม็ด มีการเรียงลำดับที่สามารถตรวจสอบประจำวันได้ง่าย โดยส่วนตัวจึงไม่แปลกใจถ้าผู้ใช้บางรายจะเลือกยาคุมรูปแบบนี้นะคะ

                แต่ในกรณีที่ไม่มีทางเลือก เป็นต้นว่า ยาคุมยี่ห้อที่ต้องการใช้ มีจำหน่ายเฉพาะรูปแบบ 28 เม็ดเท่านั้น ก็เคยพบเห็นมาเช่นกันว่า ผู้ใช้บางรายเลือกที่จะนับวันเว้นว่างตามจำนวนเม็ดยาหลอก หรือแกะเม็ดยาหลอกทิ้งวันละเม็ดแทนการรับประทาน โดยให้เหตุผลว่าขี้เกียจรับประทาน

                ซึ่งฟังแล้วก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่า ในเมื่อเม็ดยาส่วนใหญ่ในแผงก็รับประทานกันได้ ทำไมมาขี้เกียจใช้กะอีแค่ไม่กี่เม็ด จนกระทั่งไม่นานมานี้ จึงได้ถึงบางอ้อเสียทีว่า เหตุผลที่ผู้ใช้ยาคุมบางรายไม่อยากรับประทานเม็ดยาหลอก ก็เพราะกลัวว่าจะทำให้อ้วนนั่นเอง

 

                เอาล่ะค่ะ… เกริ่นนำเพื่อเพิ่มจำนวนคำในบทความมาเยอะแล้ว (ฮ่า…) ก็มาเข้าเรื่องด้วยการหาคำตอบกันเสียทีนะคะว่า การรับประทานเม็ดยาหลอกในแผงยาคุม จะทำให้ผู้ใช้อ้วนขึ้นหรือเปล่า

 

                เม็ดยาหลอกของยาคุมบางยี่ห้ออาจมีตัวยาสำคัญที่ช่วยบำรุงเลือด แต่เม็ดยาหลอกของยาคุมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีตัวยาสำคัญอะไรค่ะ แต่เป็นเพียงแป้ง, น้ำตาล, น้ำตาลนม รวมถึงส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อให้สามารถขึ้นรูปและคงสภาพเป็นเม็ดยาที่มีขนาดพอเหมาะ หรือช่วยให้เม็ดยาแตกตัวและปลดปล่อยตัวยาสำคัญได้หลังรับประทานเข้าไป

                ในเอกสารที่เผยแพร่สู่สาธารณะ บริษัทยาไม่ได้แจ้งปริมาณของส่วนผสมอื่น ๆ โดยละเอียดนะคะ หากพิจารณาเท่าที่มีการให้ข้อมูลมา ส่วนผสมหนึ่งที่มีการระบุปริมาณไว้ก็คือ Lactose (แลคโตส) หรือที่บางคนเรียกง่าย ๆ ว่าน้ำตาลนม และอาจรวมถึง Sucrose (ซูโครส) หรือน้ำตาลทราย ในยาคุมบางตำรับ

 

                ขอหยิบยกมาเพียง 2 ตัวอย่าง รายการแรก เป็นยาคุมสูตร 24/4 (นั่นคือ มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด) ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดยาเคลือบฟิล์ม ระบุว่า ในเม็ดยาหลอก 1 เม็ด มีปริมาณแลคโตส 52 มิลลิกรัม

                ส่วนรายการที่สอง เป็นยาคุมสูตร 21/7 (เม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด และเม็ดยาหลอก 7 เม็ด) ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดยาเคลือบน้ำตาล ระบุว่าในเม็ดยาหลอก 1 เม็ด มีปริมาณแลคโตส 48 มิลลิกรัม และน้ำตาลทราย 34 มิลลิกรัม

                เทียบแบบคร่าว ๆ แล้ว เม็ดยาหลอก 1 เม็ด ให้พลังงานน้อยกว่าข้าวสาร 3 – 4 เมล็ดด้วยซ้ำไปค่ะ จะเอาที่ไหนมาอ้วนคะ เดินไม่กี่ก้าวก็เผาผลาญหมดแล้วล่ะคู้ณณณณณ…..

 

                และไม่ได้มีเฉพาะในเม็ดยาหลอก เพราะแม้แต่เม็ดยาฮอร์โมน ก็มีส่วนผสมเหล่านี้เช่นกัน

                จากตัวอย่างเดิม รายการแรก ยาคุมสูตร 24/4 ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดยาเคลือบฟิล์ม ระบุว่า ในเม็ดยาฮอร์โมน 1 เม็ด มีปริมาณแลคโตส 48 มิลลิกรัม

                ส่วนรายการที่สอง เป็นยาคุมสูตร 21/7 ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดยาเคลือบน้ำตาล ระบุว่าในเม็ดยาฮอร์โมน 1 เม็ด มีปริมาณแลคโตส 31 มิลลิกรัม และน้ำตาลทราย 19 มิลลิกรัม

                เห็นมั้ยคะว่า ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเม็ดยาหลอกที่อยู่ในแผงเดียวกัน

 

                ดังนั้น เลิกกังวลว่าการรับประทานเม็ดยาหลอกจะทำให้อ้วนได้เลยนะคะ โอกาสที่น้ำหนักจะขึ้นเพราะการบวมน้ำ หรือเพราะรู้สึกเจริญอาหารทำให้รับประทานมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากเม็ดยาฮอร์โมน (แต่อาจเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของฮอร์โมนของยาคุมแต่ละสูตร รวมถึงการตอบสนองของแต่ละบุคคล) ยังเป็นไปได้มากกว่าเลยค่ะ