เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
“อาร์เดน” (R-den) เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด โดยเม็ดยาสีขาวในแผง ก็คือ “เม็ดยาฮอร์โมน” ซึ่งแต่ละเม็ดจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.03 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสติน Levonorgestrel อีก 0.15 มิลลิกรัม
ส่วนเม็ดยาสีเหลือง ก็คือ “เม็ดยาหลอก” หรืออาจเรียกว่าเม็ดแป้ง เพราะไม่ได้มีตัวยาสำคัญใด ๆ แต่ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถต่อยาคุมแผงใหม่ได้ตรงตามกำหนด
เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม “อาร์เดน” จึงจัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) ซึ่งผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน เช่น อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยกว่ายาคุมประเภทฮอร์โมนสูง (High dose pills)
แต่ Levonorgestrel เป็นโปรเจสตินรุ่น 2 ที่ยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง จึงอาจพบปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้
การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE)
และผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
ซึ่งแม้จะไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามใช้ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกสูตรยาคุมที่เหมาะสม
หรืออาจพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ในผู้ที่มีค่า BMI > 35 kg/m2
เมื่อเปรียบเทียบยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแต่ละสูตร พบว่า ยาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol (EE) ไม่เกินเม็ดละ 0.03 มิลลิกรัม และใช้ตัวยาโปรเจสตินเป็น Levonorgestrel (LNG), Norethisterone (NET) หรือ Norgestimate (NGM) มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าสูตรอื่น ๆ
ผู้ที่เริ่มใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หรือกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าว จึงอาจพิจารณา “อาร์เดน” และยาคุมฮอร์โมนต่ำสูตร EE/LNG ยี่ห้ออื่น ๆ เป็นทางเลือกแรกที่จะใช้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ
“อาร์เดน” ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัทไทยนครพัฒนา จำกัด (Thai Nakorn Patana co.ltd) มีราคา 40 – 50 บาทโดยประมาณค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.