กินยาคุมฉุกเฉินแล้ว ต้องกินแบบรายเดือนต่อมั้ย

กินยาคุมฉุกเฉินแล้ว ต้องกินแบบรายเดือนต่อมั้ย

                มีเพศสัมพันธ์วันที่ประจำเดือนหมด แฟนสวมถุงยาง แต่ตอนถอดถุงมีน้ำไหลออกมา ด้วยความกังวล เลยกินยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีนี้ จะต้องกินแบบรายเดือนด้วยมั้ย หรือว่าไม่ต้องก็ได้ แล้วประจำเดือนจะมาอีกรอบหรือเปล่า

 

                การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดี โดยไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงจากฮอร์โมนใด ๆ แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการคุมกำเนิดชั่วคราว

                อย่างไรก็ตาม หากเกิดความผิดพลาดจากการใช้ถุงยางอนามัย หรือไม่มั่นใจว่ามีการใช้อย่างถูกต้อง การรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็เป็นการแก้ไขที่เหมาะสมแล้วนะคะ

 

                การใช้ยาคุมแบบรายเดือน ไม่มีผลป้องกันการตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งที่ผ่านมาค่ะ นั่นหมายถึง ต่อให้เริ่มยาคุมแผงแรกในตอนนี้ ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินที่รับประทานไปแล้ว ดังนั้น หากคิดว่าจะสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่ต้องรับประทานยาคุมแบบรายเดือนก็ได้

 

                แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด จากการใช้ถุงยางอนามัย ไปเป็นการรับประทานยาคุมรายเดือน หรือต้องการใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ก็สามารถเริ่มยาคุมแผงแรกได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนนะคะ

                และถ้าเริ่มยาคุมแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน จะต้องรับประทานติดต่อกันให้ครบ 7 วัน (หรือ 2 วันสำหรับ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน”, “ซีราเซท” และ 9 วันสำหรับ “ไคลรา”) ถึงจะเริ่มมีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน ในช่วงแรกจึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไปก่อน

 

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2 เม็ด ได้แก่ “โพสตินอร์”, “มาดอนน่า”, “แมรี่ พิงค์”, “แอปคาร์ นอร์แพก”, “เลดี้นอร์”, “แจนนี่”, “เอ-โพสน็อกซ์” หรือจะเป็นแบบ 1 เม็ด ได้แก่ “เมเปิ้ล ฟอร์ท”, “แทนซี วัน”, “มาดอนน่า วัน” เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ทั้งหมดค่ะ ซึ่งไม่มีปัญหาหากใช้ร่วมกับยาคุมรายเดือน จึงสามารถเริ่มรับประทานได้ทันที

                แต่ถ้ารับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูลิพริสทอล อะซีเตท (Ulipristal acetate) ที่มีใช้ในบางประเทศ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 วัน (หรือเท่ากับ 120 ชั่วโมง) ก่อนจะเริ่มใช้ยาคุมรายเดือน หรือฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ เพื่อไม่ให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินลดลงนะคะ

 

                ซึ่งมีคำแนะนำจากคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) เกี่ยวกับการเริ่มยาคุมแผงแรกหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน เผื่อไว้ในกรณีที่ล้มเหลวในการป้องกัน และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา ว่าควรหลีกเลี่ยงยาคุมที่ใช้ฮอร์โมนไซโปรเทอโรน อะซีเตท (Cyproterone acetate) เพราะมีรายงานความผิดปกติแบบอวัยวะเพศกำกวมกับตัวอ่อนเพศผู้ในสัตว์ทดลอง

                อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการใช้จริงในมนุษย์ ก็ยังไม่พบความผิดปกติใดในทารกที่มารดาใช้ยาคุมสูตรนี้อยู่ก่อนจะทราบว่าตั้งครรภ์ค่ะ

 

                หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยภายใน 7 วัน หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ นั่นเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยา และไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดว่าจะป้องกันได้ผลหรือไม่

                หากไม่มีการตั้งครรภ์ ผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉินส่วนใหญ่ จะมีประจำเดือนมาตรงตามรอบปกติเดิม หรือคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วันค่ะ

 

                แต่ถ้ามีการใช้ยาคุมรายเดือนร่วมด้วย ประจำเดือนก็จะมาในช่วงปลอดฮอร์โมน นั่นคือ ถ้าใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงแล้วก็จะเว้นว่างเป็นช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วันก่อนต่อยาคุมแผงใหม่ ประจำเดือนจะมาในช่วงที่เว้นว่าง โดยมักจะมาประมาณวันที่ 3 – 4 ของการเว้นว่าง หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย

                ส่วนการใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ด ประเภทที่มีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ประจำเดือนจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก ซึ่งถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนนั่นเองนะคะ โดยมักจะมาตรงกับวันที่ใช้เม็ดยาหลอกเม็ดที่ 3 – 4 โดยประมาณ หรืออาจคลาดเคลื่อนจากนั้นเล็กน้อยค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. FSRH guideline: Quick Starting Contraception (April 2017).
  4. Family Planning: A Global Handbook for Providers (2022 update).
  5. Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance 4th edition, 2018.
  6. AAP Committee on Adolescence: Emergency Contraception, 2019.