ต่อแผงใหม่วันที่ 5 ของประจำเดือน แต่เว้นว่างเกิน 7 วัน จะคุมได้มั้ย

ต่อแผงใหม่วันที่ 5 ของประจำเดือน แต่เว้นว่างเกิน 7 วัน จะคุมได้มั้ย

                ต่อยาคุมแบบ 21 เม็ดแผงที่สอง ในวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน แต่ถ้านับวันเว้นว่างแล้วก็เกิน 7 วัน หลังรับประทาน 2 วันก็มีเพศสัมพันธ์หลั่งใน และสวนล้างช่องคลอดทันทีหลังเสร็จกิจ แบบนี้จะมีโอกาสท้องหรือเปล่า

 

                เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ จึงมักจะแนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงแรก ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน

                และหากใช้ทันช่วงเวลานี้ ก็จะมีประสิทธิภาพยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นเลย จึงถือว่าคุมกำเนิดได้ทันทีค่ะ

 

                เมื่อรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ดแผงเดิมหมดแล้ว ก็ให้เว้นว่าง 7 วันเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมน แล้วต่อแผงใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่างนะคะ

                ประจำเดือนจะมาในช่วงปลอดฮอร์โมน โดยมักจะมาประมาณวันที่ 3 – 4 ของการเว้นว่าง หรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย

 

                อ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตามปกติ (Typical use) มีโอกาสตั้งครรภ์ 7% ส่วนการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% จะเห็นได้ว่า มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้ารับประทานยาคุมอย่างถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                และเมื่อมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ จึงไม่ต้องสนใจว่าวันที่เริ่มรับประทานแผงใหม่ จะตรงกับวันที่เท่าไหร่ของการมีประจำเดือนค่ะ

 

                แต่ถ้ามีช่วงปลอดฮอร์โมนนานเกินไป ประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ก็อาจลดลง ซึ่งหากมีไข่ตกแล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้

                หลังใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดแผงเดิมหมดแล้ว และต้องการต่อยาคุมแผงใหม่ จึงไม่ควรจะเว้นว่างนานเกิน 7 วันนะคะ

 

                จากกรณีตัวอย่าง เมื่อเว้นว่างเกิน 7 วัน ก็ถือว่ามีการต่อยาคุมแผงใหม่ช้านั่นเองค่ะ

                อย่างไรก็ตาม ยาคุมแบบ 21 เม็ดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งยืดหยุ่นให้สามารถต่อแผงใหม่ช้ากว่าปกติได้ โดยกำหนดกรอบเวลาไว้ที่ 48 หรือ 72 ชั่วโมง (จำนวนชั่วโมงจะขึ้นกับแหล่งอ้างอิง และ/หรือ ปริมาณฮอร์โมนของยาคุมที่ใช้)

                ดังนั้น นับจากเวลาที่ควรจะเริ่มใช้ยาคุมแผงที่สอง ไปหาเวลาที่ได้รับประทานจริง ถ้าห่างกันไม่ถึง 48 ชั่วโมง (หรือ 72 ชั่วโมงในบางกรณี) ก็ยังถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยประสิทธิภาพอาจลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยาคุมถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                แต่ถ้าห่างกันตั้งแต่ 48 ชั่วโมง (หรือ 72 ชั่วโมงในบางกรณี) ขึ้นไป จะถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้ว จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปจนกว่าจะรับประทานยาคุมแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วัน

 

                และเนื่องจากการสวนล้างช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ดังนั้น ถ้าต่อยาคุมช้าเกินกรอบเวลายืดหยุ่น และมีเพศสัมพันธ์หลั่งในไปแล้วก่อนที่จะใช้ยาคุมแผงใหม่ติดต่อกันครบ 7 วัน ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นะคะ

                หากมีความเสี่ยงดังกล่าว ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
  2. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)