ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) หมายถึง ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งมี เอทธินิล เอสตราไดออล (Ethinyl estradiol) ไม่เกินเม็ดละ 0.020 มิลลิกรัม
ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ และฝ้า จึงพบได้น้อยจากการใช้ยาคุมประเภทนี้
ยาคุมฮอร์โมนต่ำมาก ที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน จัดแบ่งตามสูตรยาออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.015 มิลลิกรัม + Gestodene 0.060 มิลลิกรัม
มีจำหน่ายอยู่ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ “มินิดอซ” และ “ไมนอซ” ซึ่งเป็นยาคุมแบบ 28 เม็ดทั้งคู่
จุดเด่นแรกของยาคุมในกลุ่มนี้ก็คือ เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำที่สุด จึงลดผลข้างเคียงจากเอสโตรเจนและโปรเจสติน ได้แก่ คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, บวมน้ำ, ฝ้า, สิว, หน้ามัน หรือขนดก
จุดเด่นอีกประการก็คือ เป็นยาคุมรูปแบบ 24/4 (นั่นคือ มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด) ซึ่งช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม
ยี่ห้อ : มินิดอซ (Minidoz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 170 – 200 บาท |
|
ยี่ห้อ : ไมนอซ (Minoz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 140 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Gestodene 0.075 มิลลิกรัม
อาจเรียกง่าย ๆ ว่า “ยาคุมสูตรเมลลิแอน” ซึ่งแม้ยาคุมต้นแบบอย่าง “เมลลิแอน” (Meliane: 21 เม็ด) และ “เมลลิแอน อีดี” (Meliane ED: 28 เม็ด) จะหยุดจำหน่ายไประยะหนึ่งแล้ว แต่ก็มียาคุมสูตรเดียวกันยี่ห้ออื่น ๆ ให้ใช้แทนได้ ทั้งรูปแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด
สำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ด ได้แก่ “ไซโคลเม็กซ์-20”, “แอนนี่ ลินน์” และ “คลาเรนซ์”
ส่วนยาคุมแบบ 28 เม็ด ได้แก่ “ออนเจล 20”, “แอนนี่ ลินน์ 28” และ “คลาเรนซ์ 28”
ยาคุมในกลุ่มนี้มีปริมาณฮอร์โมนมากกว่ากลุ่มแรก แต่ผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, บวมน้ำ, ฝ้า, สิว, หน้ามัน หรือขนดก ก็ยังพบได้น้อย ซึ่งเป็นจุดเด่นของยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมากนั่นเอง
ยี่ห้อ : ไซโคลเม็กซ์-20 (Ciclomex-20) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
|
ยี่ห้อ : แอนนี่ ลินน์ (Annylyn) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : คลาเรนซ์ (Clarenz) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 130 – 150 บาท |
|
ยี่ห้อ : ออนเจล 20 (Onjel 20) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
|
ยี่ห้อ : แอนนี่ ลินน์ 28 (Annylyn 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : คลาเรนซ์ 28 (Clarenz 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 130 – 150 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Levonorgestrel 0.100 มิลลิกรัม
ยี่ห้อที่มีจำหน่ายอยู่ก็คือ “โลล่า” ซึ่งเป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด
จุดเด่นที่มีร่วมกันกับยาคุมฮอร์โมนต่ำในกลุ่มอื่น ๆ ก็คือ ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ และฝ้า ที่พบได้น้อย
แต่เนื่องจาก เลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เป็นโปรเจสตินที่ยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง จึงอาจพบปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดก ได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยาคุมในกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำ โดยพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพียง 5 – 7 ราย ต่อผู้ใช้ 10,000 คนต่อปี ในขณะที่ยาคุมฮอร์โมนต่ำกลุ่มอื่น ๆ อาจพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ 9 – 12 ราย ต่อผู้ใช้ 10,000 คนต่อปี
ยี่ห้อ : โลล่า (Lola) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Desogestrel 0.150 มิลลิกรัม
อาจเรียกง่าย ๆ ว่า “ยาคุมสูตรเมอซิลอน” เนื่องจากเป็นต้นแบบของยาคุมในกลุ่มนี้
และเช่นเดียวกับยาคุมฮอร์โมนต่ำกลุ่มอื่น ๆ ก็คือ ปัญหาเรื่อง คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ และฝ้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน จะพบได้น้อย
นอกจากนี้ การที่ดีโซเจสตริล (Desogestrel) เป็นโปรเจสตินที่มีฤทธิ์แอนโดรเจนต่ำ ปัญหาเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดก จึงน่าจะพบได้น้อยกว่ายาคุมใน 3 กลุ่มแรก
ยาคุมในกลุ่มนี้ มีทั้งรูปแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ดให้เลือกใช้
สำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ด ได้แก่ “เมอซิลอน”, “โนวีเนท”, “มินนี่” และ “เลสซิลอน 21”
สำหรับยาคุมแบบ 28 เม็ด ได้แก่ “เมอซิลอน 28”, “มินนี่ 28” และ “เลสซิลอน 28”
ยี่ห้อ : เมอซิลอน (Mercilon) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 160 – 180 บาท |
|
ยี่ห้อ : โนวีเนท (Novynette) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : มินนี่ (Minny) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : เลสซิลอน 21 (Lescilon 21) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 140 บาท |
|
ยี่ห้อ : เมอซิลอน 28 (Mercilon 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 160 – 180 บาท |
|
ยี่ห้อ : มินนี่ 28 (Minny 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : เลสซิลอน 28 (Lescilon 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 110 – 140 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม
ได้แก่ “ยาส”, “ซินโฟเนีย” และ “เฮอร์ซ” ซึ่งทั้งหมดเป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด
จุดเด่นแรกของยาคุมในกลุ่มนี้ก็คือ อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน จะพบได้น้อย
จุดเด่นต่อมาก็คือ ดรอสไพรีโนน (Drospirenone) เป็นโปรเจสตินที่นอกจากจะมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน ซึ่งช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกที่เกิดจากฮอร์โมนแล้ว ก็ยังมีผลขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงลดน้ำหนักที่เพิ่มจากการบวมน้ำด้วย
จุดเด่นอีกประการก็คือ เป็นยาคุมรูปแบบ 24/4 ที่สามารถลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านมได้
ยี่ห้อ : ยาส (Yaz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 420 – 460 บาท |
|
ยี่ห้อ : ซินโฟเนีย (Synfonia) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 350 – 390 บาท |
|
ยี่ห้อ : เฮอร์ซ (Herz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 290 – 330 บาท |
ราคาที่ระบุไว้ในบทความ เป็นเพียงราคาโดยประมาณนะคะ ราคาที่จำหน่ายจริงในร้านยาแต่ละแห่ง อาจแตกต่างไปจากนี้ได้ ซึ่งผู้อ่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมจากเภสัชกรประจำร้านยาใกล้บ้านได้ค่ะ
จะเห็นได้ว่า แม้จะแบ่งตามสูตรยาเป็น 5 กลุ่ม แต่จุดเด่นที่มีร่วมกันก็คือ พบผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาหรือสมุนไพรบางชนิด รวมถึงการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงที่ล้มเหลวในการคุมกำเนิดด้วยยาคุมประเภทนี้ จึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อพิจารณายาคุมหรือวิธีคุมกำเนิดอื่นที่เหมาะสม
นอกจากนี้ การใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก ก็อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลา
ผู้ใช้จึงควรรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ ทั้งเพื่อลดปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์