ยาลดกรด และ ยาธาตุน้ำขาว

ยาลดกรดและยาธาตุน้ำขาว

                แม้ว่ายาลดกรดและยาธาตุน้ำขาวจะสามารถบรรเทาอาการปวดท้องได้ทั้งคู่ แต่ก็มีความเหมาะสมในการเลือกใช้ที่แตกต่างกันค่ะ

 

                โดยยาธาตุน้ำขาว (Salol et Menthol Mixture) มีตัวยาสำคัญ ดังนี้

  1. ฟีนิลซาลิไซเลต (Phenyl salicylate) หรืออาจเรียกว่า ซาลอล (Salol) ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยาในลำไส้เล็กก็จะให้ฟีนอล (Phenol) ที่มีฤทธิ์อ่อน ๆ ในการยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในลำไส้ และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ที่มีฤทธิ์ระงับปวด, ลดไข้ และต้านการอักเสบ
  2. เมนทอล (Menthol) หรืออาจเรียกว่าเกล็ดสะระแหน่ ซึ่งนอกจากกลิ่นและรสที่หอมเย็นจะช่วยให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียน หรือคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ฤทธิ์ชาเฉพาะที่อย่างอ่อน ๆ และขับลม ยังช่วยลดอาการปวดเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
  3. น้ำมันเทียนสัตตบุษย์ (Anise oil) ซึ่งมีกลิ่นหอมหวานและรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย มีฤทธิ์ขับลม บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

 

                ส่วนยาลดกรดชนิดน้ำ (antacid suspension) เดิมจะมีเฉพาะตัวยาสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และ แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาสะเทินหรือลบล้างฤทธิ์ของกรดในทางเดินอาหาร ลดอาการปวดหรือแสบร้อนท้องที่เป็นอยู่

                แต่ในปัจจุบัน หลายยี่ห้อได้เพิ่มตัวยา ไซเมธิโคน (Simethicone) ที่มีฤทธิ์ขับลมเข้ามาด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากการมีแก๊สในทางเดินอาหารมากเกินไป

 

                จะเห็นว่า แม้ยาธาตุน้ำขาวจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและแน่นท้อง แต่ก็ไม่สามารถลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหารได้

                อีกทั้ง แอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนผสมในบางยี่ห้อ ก็อาจเพิ่มความระคายเคือง และทำให้ความรู้สึกแสบร้อน ปวดเสียด หรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ เกิดขึ้นซ้ำหรือรุนแรงยิ่งขึ้น

                ยาธาตุน้ำขาวจึงเหมาะที่จะใช้ในกรณีท้องเสียจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เพื่อไปยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคในทางเดินอาหารที่อาจเป็นสาเหตุของการถ่ายเหลวดังกล่าว และบรรเทาอาการปวดหรือไม่สบายท้องที่อาจพบร่วมด้วย (แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน หรือยาซาลิไซเลตอื่น ๆ)

 

                ในขณะที่ยาลดกรดก็ไม่ควรนำมาใช้รักษาอาการท้องเสียนะคะ เพราะไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคในลำไส้

                แม้ว่าบางยี่ห้อจะมีตัวยาขับลมผสมอยู่ ซึ่งบรรเทาอาการแน่นท้องหรือท้องอืดได้ แต่อาการปวดท้องที่อาจพบร่วมกับการถ่ายเหลวก็ไม่ได้เกิดจากภาวะกรดเกิน กลไกการสะเทินกรดจึงไม่มีประโยชน์ในกรณีดังกล่าว

                นอกจากนี้ ท้องเสียก็เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจาก แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ หากนำมาใช้อาจทำให้มีการถ่ายเหลวซ้ำซ้อนไปอีกค่ะ