ยาลดไข้ชนิดหยดสำหรับทารก (Tylenol drops vs Sara drops)

ยาลดไข้ชนิดหยดสำหรับทารก

                ผู้ปกครองบางรายมีความเชื่อว่า “ยาลดไข้ชนิดหยดสำหรับทารก” แต่ละยี่ห้อมีความแรงต่างกัน และอาจเลือกใช้ยี่ห้อที่คิดว่าแรงกว่าเพราะเข้าใจไปว่าจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

                จริงหรือมั่ว… ชัวร์หรือไม่… มาลองเปรียบเทียบยาลดไข้ชนิดหยดยี่ห้อไทลินอล (Tylenol drops) กับยาลดไข้ชนิดหยดยี่ห้อซาร่า (Sara drops) กันดีกว่านะคะ

                หรือถ้าคุณผู้อ่านมียาพาราเซตามอลชนิดหยดยี่ห้ออื่นอยู่ติดบ้าน ก็ลองหยิบมาดูไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

 

                จากภาพตัวอย่าง ไทลินอลชนิดหยด มีการระบุว่า “ยานี้มีพาราเซตามอล 80 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิลิตร” ส่วนซาร่าชนิดหยด มีการระบุว่า “ยานี้มีพาราเซตามอล 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร”

 

                จะเห็นได้ว่าทั้งคู่มีตัวยาสำคัญเดียวกัน คือ พาราเซตามอล ซึ่งมีสรรพคุณในการบรรเทาปวดและลดไข้

                และแม้จะมีการระบุข้อมูลในส่วนของความแรงไม่เหมือนกัน แต่เมื่อคิดจากปริมาตรของยาน้ำที่เท่ากัน คือ 1 มิลลิลิตร ทั้ง 2 ยี่ห้อก็มีปริมาณตัวยาสำคัญเท่ากัน คือ 100 มิลลิกรัม

                จึงสรุปได้ว่าความแรงของยาน้ำลดไข้ชนิดหยดยี่ห้อไทลินอลและยี่ห้อซาร่า มีความแรงเท่ากันนะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม… แม้จะมีตัวยาสำคัญเดียวกัน และมีความแรงเท่ากัน แต่หลอดหยดที่แถมมาในกล่องกลับมีขนาดบรรจุแตกต่างกันค่ะ

 

                หลอดหยดของไทลินอล จะมีขีดบอกระดับยาอยู่ 2 ขีด โดยระบุขนาด 0.4 มิลลิลิตร และ 0.8 มิลลิลิตร

 

                ส่วนหลอดหยดของซาร่า จะมีขีดบอกระดับ 6 ขีด โดยมีตัวเลขระบุขนาดของขีดที่ 3 (นับจากล่างไปบน) เป็น 0.3 มิลลิลิตร และมีตัวเลขระบุขนาดของขีดบนสุด เป็น 0.6 มิลลิลิตร ซึ่งหมายถึง 1 ขีดจะเท่ากับ 0.1 มิลลิลิตรนั่นเอง

 

                จากความแตกต่างของการกำหนดขีดวัดระดับยาในหลอดหยด ทำให้ 1 หลอดหยดของไทลินอลจะเทียบเท่ากับปริมาตรยาน้ำ 0.8 มิลลิลิตร (มีตัวยาพาราเซตามอล 80 มิลลิกรัม) ในขณะที่ 1 หลอดหยดของซาร่าจะเป็น 0.6 มิลลิลิตร (มีตัวยาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัม)

                ดังนั้น ถ้านำหลอดหยดของยี่ห้อหนึ่งไปใช้กับอีกยี่ห้อหนึ่งแล้วดูดยาน้ำในขนาด “1 หลอดหยด” ตามที่ระบุไว้ในฉลาก ก็จะทำให้ได้รับตัวยาสำคัญมากหรือน้อยกว่าขนาดที่ต้องการ

 

                ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ก็คือ รับประทานครั้งละ 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้ซ้ำได้ทุก 4 – 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ครั้ง (บางแหล่งอ้างอิง แนะนำว่าไม่ควรใช้เกินวันละ 5 ครั้ง)

                อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน ควรพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้และพิจารณาการรักษาหรือขนาดยาที่เหมาะสม ไม่แนะนำให้ซื้อยามาใช้เองนะคะ

 

                ไม่ว่าจะเลือกใช้ยาพาราเซตามอลชนิดหยดยี่ห้อใด ก็สามารถปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่น้ำหนัก 6 กิโลกรัม เมื่อคิดขนาดการใช้ 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ก็ควรจะได้รับยาพาราเซตามอลครั้งละ 60 – 90 มิลลิกรัมนะคะ

                ถ้าใช้ไทลินอลชนิดหยด ก็ให้รับประทานครั้งละ 1 หลอดหยด (0.8 มิลลิลิตร) ซึ่งจะได้ตัวยาสำคัญ 80 มิลลิกรัม

                แต่ถ้าใช้ซาร่าชนิดหยด ก็ให้รับประทานครั้งละ 1 – 1 ½ หลอดหยด (0.6 – 0.9 มิลลิลิตร) ซึ่งจะได้ตัวยาสำคัญ 60 – 90 มิลลิกรัม

 

                แต่ในบางกรณี อาจเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา เช่น เด็กที่น้ำหนัก 8 กิโลกรัม เมื่อคิดขนาดการใช้ 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ก็ควรจะได้รับยาพาราเซตามอลครั้งละ 80 – 120 มิลลิกรัม

                ซึ่งถ้าคิดที่ปริมาณขั้นต่ำที่ควรได้รับ คือ 80 มิลลิกรัม ก็จะต้องให้ไทลินอลชนิดหยด รับประทานครั้งละ 1 หลอดหยด (0.8 มิลลิลิตร) ซึ่งจะได้ตัวยาสำคัญ 80 มิลลิกรัมพอดี

                แต่ถ้าให้ซาร่าชนิดหยด จะต้องดูดยา 2 รอบค่ะ เช่น รอบแรก 1 หลอดหยด (0.6 มิลลิลิตร) ซึ่งจะได้ตัวยาสำคัญ 60 มิลลิกรัม แล้วให้อีกรอบในขนาด ½ หลอดหยด (0.3 มิลลิลิตร) หรือ 2 ขีดในหลอดหยด (0.2 มิลลิลิตร) เพื่อให้ได้ตัวยาสำคัญเพิ่มอีก 30 หรือ 20 มิลลิกรัม รวมกับรอบแรกก็จะได้เป็น 90 หรือ 80 มิลลิกรัมนั่นเอง

                ดังนั้น สำหรับเด็กที่ป้อนยายาก หรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการใช้ยา การใช้ไทลินอลชนิดหยดครั้งเดียว อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ซาร่าชนิดหยดแล้วต้องป้อนยา 2 รอบนะคะ

                แต่ถ้าไม่มีปัญหาในการป้อนยา จะใช้ยี่ห้อใดก็ได้ เพราะประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันถ้าใช้ในขนาดที่เหมาะสมค่ะ

 

                การใช้ยาในปริมาณที่มากกว่าขนาดแนะนำ หรือการให้ถี่กว่าเวลาที่แนะนำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้อนยา เช่น…

  • อ่านฉลากยาทุกครั้ง และใช้ให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในฉลาก
  • เขย่าขวดอย่างน้อย 10 วินาทีเพื่อให้ยากระจายตัวสม่ำเสมอ เนื่องจากยาน้ำอาจมีการตกตะกอนเมื่อตั้งทิ้งไว้นาน
  • ใช้หลอดหยดที่แถมมาในกล่อง เพราะหากนำอุปกรณ์อื่น หรือหลอดหยดของยายี่ห้ออื่นมาใช้ อาจทำให้ได้รับตัวยาสำคัญในขนาดมากหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
  • หากมีการป้อนยาหลายชนิด ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้ยาซ้ำซ้อนกัน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากการได้รับยาเกินขนาดนะคะ
  • นอกจากนี้ ควรเก็บยาไว้ให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันการนำไปรับประทานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ค่ะ