จะเลือกยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดหรือ 2 เม็ดดีนะ

จะเลือกยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดหรือ 2 เม็ดดีนะ

                ยาคุมฉุกเฉินแบบใหม่ที่มี 1 เม็ด แรงกว่าแบบ 2 เม็ดที่มีใช้มานานกว่าหรือไม่ แล้วควรเลือกรูปแบบไหนดี จึงจะมีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัยมากกว่า

                มาไขปัญหาคาใจ 5 เรื่อง เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดและ 2 เม็ดกันค่ะ

 

  1. ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด แรงกว่าแบบ 2 เม็ดหรือไม่?!?

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ทั้งรูปแบบ 2 เม็ด ได้แก่ โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) และ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox)

                หรือรูปแบบ 1 เม็ด ได้แก่ เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte), แทนซี วัน (Tansy one), มาดอนน่า วัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) และ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte)

                ล้วนเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เหมือนกัน

 

                โดยยี่ห้อที่มีแผงละ 2 เม็ด จะมีตัวยาอยู่เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ปริมาณยารวมทั้งแผงจึงเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัมนะคะ

                ส่วนยี่ห้อที่มีแผงละ 1 เม็ด จะมีตัวยาอยู่เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม ปริมาณยาใน 1 แผงจึงเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัมนั่นเอง

 

                ดังนั้น ถ้าเทียบความแรงแบบเม็ดต่อเม็ดแล้ว 1 เม็ดของเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน, รีโวค-1.5 หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต จะมีความแรงมากกว่า 1 เม็ดของโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์

                แต่เมื่อเทียบแบบแผงต่อแผง ยาคุมฉุกเฉินทุก ๆ ยี่ห้อที่กล่าวมานั้น ก็มีความแรงไม่แตกต่างกันเลยค่ะ

 

  1. ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ใช้ง่ายกว่าแบบ 2 เม็ดหรือไม่?!?

                วิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล มีอยู่ 2 วิธีค่ะ โดยวิธีดั้งเดิมจะแนะนำให้รับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง1-2

                ส่วนวิธีใหม่ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวิธีใช้มาตรฐานในปัจจุบัน1-6 จะแนะนำให้รับประทานครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม

                และไม่ว่าจะเลือกใช้ตามวิธีใด ก็ให้รับประทานเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์4-6 หรืออย่างช้า ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์1-3นะคะ

 

                ดังนั้น ถ้าเทียบทางเลือกในการใช้ ยาคุมฉุกเฉินที่มีแผงละ 2 เม็ดอย่างโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ ก็จะมีความหลากหลายกว่า โดยผู้ใช้สามารถรับประทานแยกทีละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง หรือจะรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียวก็ได้

                ส่วนยาคุมฉุกเฉินที่มีแผงละ 1 เม็ดอย่างเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน, รีโวค-1.5 หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต ผู้ใช้จะต้องรับประทานแบบเม็ดเดียวครั้งเดียวค่ะ ไม่แนะนำให้หักแบ่งเพื่อรับประทานทีละครึ่งเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ที่เหนือกว่าแล้ว ยังยุ่งยาก และอาจทำให้ปริมาณยาที่ได้รับไม่ถูกต้องด้วยนะคะ

               

                อย่างไรก็ตาม หากเทียบวิธีรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว ซึ่งถือเป็นวิธีใช้มาตรฐานในปัจจุบัน การรับประทานโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ พร้อมกัน 2 เม็ดครั้งเดียว หรือการรับประทานเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน, รีโวค-1.5 หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต เม็ดเดียวครั้งเดียว ก็ถือว่าใช้ง่ายไม่แตกต่างกันค่ะ

 

  1. ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบ 2 เม็ดหรือไม่?!?

                โดยปกติแล้ว ผลข้างเคียงจากยามักจะขึ้นกับขนาดการใช้นะคะ ดังนั้น การรับประทานยาคุมฉุกเฉินครั้งละ 1.5 มิลลิกรัม จึงถูกคาดการณ์ว่าน่าจะมีผลข้างเคียงมากกว่าการรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม

                และทำให้เกิดความกังวลที่จะเลือกใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดอย่างเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน, รีโวค-1.5 หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต ซึ่งต้องรับประทานแบบเม็ดเดียวครั้งเดียว

                รวมไปถึง อาจไม่กล้ารับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ดอย่างโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ พร้อมกัน 2 เม็ดในครั้งเดียว

 

                อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาชี้ว่าโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรับประทานทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกัน8 หรืออาจพบอาการปวดศีรษะ7,9, คัดตึงเต้านม9 และประจำเดือนมามาก7,9 ได้บ่อยกว่าจากการรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว แต่ไม่มีอันตรายรุนแรงค่ะ

 

                นั่นหมายถึง ยาคุมฉุกเฉินชนิด 1 เม็ดไม่ได้มีผลข้างเคียงมากไปกว่ายาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยเฉพาะถ้ารับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียวเหมือนกัน

                แต่การรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด โดยรับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว และการรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว อาจพบอาการปวดศีรษะ, คัดตึงเต้านม และประจำเดือนมามาก ได้บ่อยกว่า หรือไม่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยรับประทานแยกทีละเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง

 

  1. ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบ 2 เม็ดหรือไม่?!?

                จากที่กล่าวไปในข้อแรกแล้วว่า ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ทั้งแบบ 1 เม็ด และแบบ 2 เม็ด มีปริมาณยาต่อแผงเท่ากัน คือ 1.5 มิลลิกรัม

                การรับประทานเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน, รีโวค-1.5 หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต เม็ดเดียวครั้งเดียว จึงไม่ต่างไปจากการรับประทานโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ พร้อมกัน 2 เม็ดครั้งเดียวนะคะ

               

                หากเทียบกับการใช้ตามวิธีดั้งเดิม นั่นคือ รับประทานโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ แยกทีละเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง ผลการศึกษาชี้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกัน7,8 หรือมีแนวโน้มว่าการรับประทานครบขนาดในครั้งเดียวอาจป้องกันได้ดีกว่าการแยกรับประทานเป็น 2 ครั้ง9

 

                ดังนั้น ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าหรือด้อยกว่า ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด

                แต่การรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด โดยรับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว และการรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว มีแนวโน้มที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่า เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยรับประทานแยกทีละเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง

 

  1. ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด มีราคาต่างจากแบบ 2 เม็ดหรือไม่?!?

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบัน มีช่วงราคาระหว่าง 40 – 90 บาท โดยเมื่อมองในภาพรวม ราคาของยาคุมแบบ 1 เม็ด มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าแบบ 2 เม็ดค่ะ

                อย่างไรก็ตาม ราคาที่ระบุไว้ในบทความ เป็นเพียงราคาโดยประมาณเท่านั้น ราคาที่จำหน่ายจริงในร้านยาแต่ละแห่ง จึงอาจแตกต่างไปจากนี้ได้นะคะ

วิธีรับประทานยาคุมโพสตินอร์

ยี่ห้อ : โพสตินอร์ (Postinor)

การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ / แบ่งบรรจุในประเทศ

ราคา : 60 – 90 บาท

วิธีรับประทานยาคุมมาดอนน่า

ยี่ห้อ : มาดอนน่า (Madonna)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 50 – 70 บาท

วิธีรับประทานยาคุมแมรี่พิงค์

ยี่ห้อ : แมรี่ พิงค์ (Mary pink)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 40 – 50 บาท

วิธีรับประทานยาคุมแอปคาร์ นอร์แพก

ยี่ห้อ : แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak)

การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ

ราคา : 40 – 50 บาท

วิธีรับประทานยาคุมเลดี้นอร์

ยี่ห้อ : เลดี้นอร์ (Ladynore)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 40 – 50 บาท

วิธีรับประทานยาคุมแจนนี่

ยี่ห้อ : แจนนี่ (Janny)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 40 – 50 บาท

เอ-โพสน็อกซ์

ยี่ห้อ : เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 50 – 70 บาท

โพสต์ 1 ฟอร์ต

ยี่ห้อ : โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 40 – 50 บาท

วิธีรับประทานยาคุมเมเปิ้ลฟอร์ท

ยี่ห้อ : เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 50 – 70 บาท

มาดอนน่า วัน

ยี่ห้อ : มาดอนน่า วัน (Madonna one)

การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ

ราคา : 50 – 70 บาท

รีโวค-1.5

ยี่ห้อ : รีโวค-1.5 (Revoke-1.5)

การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ

ราคา : 50 – 70 บาท

วิธีรับประทานยาคุมแทนซีวัน

ยี่ห้อ : แทนซี วัน (Tansy one)

การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ

ราคา : 60 – 90 บาท

 

 

                และจากที่กล่าวมาทั้งหมด ก็สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด หรือจะเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ก็มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว เนื่องจากผู้ใช้จะได้รับยาลีโวนอร์เจสเทรลในปริมาณที่เท่ากันนั่นเอง

                สิ่งสำคัญของการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ก็คือ ควรรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้า ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

 

                ดังนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉิน สามารถใช้รูปแบบใดหรือยี่ห้อใดก็ได้ ที่หาซื้อสะดวกและรวดเร็ว เช่น ร้านยาใกล้บ้านมียี่ห้อไหน ก็ใช้ยี่ห้อนั้นเลยค่ะ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาจากร้านอื่น ๆ

                ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดรูปแบบ, ยี่ห้อ หรือราคา โดยเฉพาะถ้าเสี่ยงที่จะทำให้ได้รับยาล่าช้าออกไป ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง

                แต่ถ้ามีทางเลือก เช่น มีร้านยาอยู่ใกล้เคียงกันหลายร้าน หรือมียาคุมฉุกเฉินให้พิจารณาหลายยี่ห้อ ก็ไม่มีปัญหาในการเจาะจงยี่ห้อหรือรูปแบบที่ต้องการนะคะ

 

                สำหรับผู้ที่ซื้อยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ดมาใช้ แม้ว่าการแบ่งรับประทานครั้งละเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง อาจพบปัญหาปวดศีรษะ, คัดตึงเต้านม หรือประจำเดือนมามาก ได้น้อยกว่าการรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันครั้งเดียว

                แต่เนื่องจากผลข้างเคียงในภาพรวมไม่ได้แตกต่างกัน อีกทั้ง การรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว นอกจากจะใช้สะดวก และไม่ต้องกังวลว่าจะลืมรับประทานเม็ดที่สองแล้ว ก็ยังมีแนวโน้มที่จะให้ผลป้องกันที่ดีกว่า จึงแนะนำให้รับประทานพร้อมกัน 2 เม็ดไปเลยนะคะ

                หากยังไม่มั่นใจ หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยาใกล้บ้านได้ค่ะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Curtis KM, Jatlaoui TC, Tepper NK, et al: S. selected practice recommendationsfor contraceptive use, 2016, MMWR Recomm Rep 65(RR–4):1–66, 2016.
  2. Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.
  3. Upadhya KK, AAP Committee on Adolescence. Emergency Contraception. Pediatrics. 2019; 144(6): e20193149.
  4. Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
  5. International Consortium for Emergency Contraception (ICEC); International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO). Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance, 4th ed.; International Consortium for Emergency Contraception: New York, NY, USA, 2018.
  6. Emergency contraception. Practice Bulletin No. 152. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2015;126:e1–11.
  7. Shen J, Che Y, Showell E, Chen K, Cheng L. Interventions for emergency contraception. Cochrane Database Syst Rev. 2017 Aug 2;8(8):CD001324. 
  8. Leelakanok N, Methaneethorn J. A Systematic Review and Meta-analysis of the Adverse Effects of Levonorgestrel Emergency Oral Contraceptive. Clin Drug Investig. 2020 May;40(5):395-420.
  9. Shohel M, Rahman MM, Zaman A, Uddin MM, Al-Amin MM, Reza HM. A systematic review of effectiveness and safety of different regimens of levonorgestrel oral tablets for emergency contraception. BMC women’s health 2014;14:54.