บริจาคเลือดมา… ไม่กินยาบำรุงได้ไหม?!?

บริจาคเลือดมา ไม่กินยาบำรุงได้ไหม

                หลังบริจาคเลือด นอกจากความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว เราก็มักจะได้สิ่งอื่น ๆ ติดไม้ติดมือกลับมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนม, นมหรือน้ำหวาน และยาบำรุงเลือด

                แต่ก็อาจมีบางคนที่ละเลยการรับประทานยาบำรุงที่ได้รับมา โดยไม่ทราบว่ากำลังทำให้ตัวเองเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะผู้ที่บริจาคเลือดหลายครั้ง หรือบริจาคเลือดเป็นประจำ

 

                การบริจาคเลือด 450 มิลลิลิตร จะทำให้ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กไปประมาณ 200 – 250 มิลลิกรัม1 หากไม่ได้รับการชดเชยเพียงพอ ร่วมกับยังมีการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคซ้ำ ๆ เป็นประจำ หรือการเสียเลือดจากสาเหตุอื่น ธาตุเหล็กสะสมในร่างกายก็จะถูกดึงมาใช้มากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้

                ซึ่งผู้ที่บริจาคเลือดหลายครั้ง หรือบริจาคเลือดเป็นประจำ จะพบภาวะเหล็กต่ำได้มากกว่าผู้ที่บริจาคเลือดครั้งแรก ๆ

                โดยการศึกษาในโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก2 พบผู้บริจาคที่มีภาวะเลือดลอย และมีค่า Serum ferritin ต่ำกว่า 15 ng/ml ในกลุ่มผู้บริจาคเลือดตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป มากถึง 28.9% (เพศหญิง 26.3% และเพศชาย 2.6%) ส่วนกลุ่มผู้บริจาคเลือด 1 – 2 ครั้ง พบเพียง 3.9% (เพศหญิง 3.9% และเพศชาย 0%)

 

                แม้จะพบปัญหาดังกล่าวมากกว่าในผู้หญิง เนื่องจากเป็นเพศที่มีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายต่ำกว่า แต่คุณผู้ชายก็ไม่ควรชะล่าใจ และละเลยการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กนะคะ เพราะความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากมีการบริจาคเลือดซ้ำบ่อยครั้ง ดังผลที่ได้จากการศึกษาในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา3

                นั่นคือ ผู้ชายที่บริจาคเลือด 1 – 5 ครั้ง พบผู้ที่มีค่า Serum ferritin ต่ำกว่า 20 ng/ml ได้น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 7 ในกลุ่มที่บริจาคเลือด 6 – 10 ครั้ง และพบได้ราว 1 ใน 3 เมื่อบริจาคเลือดมากกว่า 10 ครั้ง

               

                การศึกษาในสหรัฐ4 ได้ติดตามผลของการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก Ferrous gluconate 325 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากับธาตุเหล็ก 37.5 มิลลิกรัม) วันละเม็ด กับระยะเวลาในการฟื้นฟูความเข้มข้นของเลือดและระดับธาตุเหล็กสะสม

                พบว่า ผู้ที่รับประทานจะฟื้นฟูระดับฮีโมโกลบินที่เสียไปให้กลับมาถึง 80% ได้ในเวลา 25 – 30 วันในเพศชาย และ 32 – 36 วันในเพศหญิง

                แต่จะใช้เวลานานขึ้นหากไม่ได้รับยาเสริมธาตุเหล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีธาตุเหล็กสะสมต่ำ (Serum ferritin ไม่เกิน 26 ng/ml) ซึ่งต้องใช้เวลา 153 วันในเพศหญิง และมากกว่า 168 วันในเพศชาย

                ส่วนกลุ่มที่มีธาตุเหล็กสะสมสูงกว่า (Serum ferritin ตั้งแต่ 26 ng/ml ขึ้นไป) ที่ไม่ได้รับประทานยาบำรุงเลือด จะใช้เวลา 92 วันในเพศหญิง และ 68 วันในเพศชาย เพื่อฟื้นฟูให้ความเข้มข้นของเลือดกลับมาใกล้เคียงปกติ

 

                และเมื่อพิจารณาภาพรวมของการฟื้นฟู Serum ferritin ให้กลับสู่ระดับเดิมก่อนบริจาค กลุ่มที่รับประทานยาบำรุงเลือดจะใช้เวลาประมาณ 76 วัน (เร็วสุด 20 วัน และช้าสุด 126 วัน)

                แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 147 วันหากไม่รับประทานยาบำรุงเลือด อีกทั้งส่วนใหญ่ หรือประมาณ 2 ใน 3 ของกลุ่ม จะไม่สามารถฟื้นฟูธาตุเหล็กสะสมได้ภายใน 168 วัน

 

                จะเห็นได้ว่าการรับประทานยาบำรุงเลือดสามารถฟื้นฟูความเข้มข้นของเลือดและระดับธาตุเหล็กสะสมได้เร็วกว่าการไม่รับประทาน

 

                ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงแนะนำให้ผู้บริจาคโลหิตรับประทานยาบำรุงเลือด หรือ ยาเสริมธาตุเหล็ก Ferrous fumarate 200 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากับธาตุเหล็ก 65 มิลลิกรัม) วันละ 1 เม็ด ก่อนนอน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 50 วัน เพื่อทดแทนธาตุเหล็กที่สูญเสียไป1

                จึงควรรับประทานให้ครบตามจำนวนที่ได้รับ โดยเฉพาะผู้ที่มีความตั้งใจจะบริจาคเลือดซ้ำอีกเรื่อย ๆ เมื่อห่วงใยเพื่อนมนุษย์แล้ว ต้องไม่ลืมห่วงใยสุขภาพตัวเองด้วยนะคะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์. การดูแลสุขภาพผู้บริจาคโลหิตอย่างมีคุณภาพ. วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต 2559; 26: 3-6. 
  2. รัชนีวรรณ มณีมาโรจน์, กนกวรรณ กลั่นกลิ่น, สุรพล ตั้งวรสิทธิชัย, สุวดี มีมาก. ระดับเหล็กสะสม (serum ferritin) ในผู้บริจาคโลหิตที่มีภาวะเลือดลอย จากการตรวจโดยวิธีคอปเปอร์ซัลเฟต. วารสารมหาวิทยาลัยนเรศวร 2554; Special Issue: 47-52​. 
  3. นุชนาถ นนทรีย์, สมชาย อินทรศิริพงษ์. ภาวะโลหิตจางและการขาดธาตุเหล็กผู้บริจาคโลหิต. เวชสารโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2558; 3: 155-160. 
  4. Kiss JE, Brambilla D, Glynn SA, Mast AE, Spencer BR, Stone M, Kleinman SH, Cable RG; National Heart, Lung, and Blood Institute (NHLBI) Recipient Epidemiology and Donor Evaluation Study–III (REDS-III). Oral iron supplementation after blood donation: a randomized clinical trial. JAMA. 2015 Feb 10; 313(6): 575-83.