ดื่มเหล้ามา… กินพาราได้มั้ย?!?

ดื่มเหล้ามากินพาราได้ไหม

                ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เมื่อรับประทานยาพาราเซตามอล โดยเฉพาะเมื่อได้รับเกินขนาด อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ

                จึงมีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยาพาราเซตามอล หรือจำกัดปริมาณไม่ให้เกิน 3 ดื่มมาตรฐาน (3 ดริ๊งก์) ต่อวันนะคะ

                และไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดที่แนะนำ ซึ่งเมื่อคำนวณขนาดการใช้ที่ 10 – 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ก็จะได้ขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ใหญ่ ดังนี้

น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)

ขนาดรับประทาน

ยาพาราเซตามอลเม็ดละ 500 มิลลิกรัม

34 – 50 กิโลกรัม

รับประทานครั้งละหนึ่งเม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมงเวลาปวดหรือมีไข้

 

50 – 67 กิโลกรัม

รับประทานครั้งละหนึ่งเม็ดครึ่ง ทุก 4 – 6 ชั่วโมงเวลาปวดหรือมีไข้

(แต่ไม่ควรเกินวันละ 5 ครั้ง)

ตั้งแต่ 67 กิโลกรัมขึ้นไป

รับประทานครั้งละสองเม็ด ทุก 6 ชั่วโมงเวลาปวดหรือมีไข้

(แต่ไม่ควรเกินวันละ 4 ครั้ง)

 

                อย่างไรก็ตาม แม้จะรับประทานยาพาราเซตามอลไม่เกินขนาดที่แนะนำ แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษต่อตับได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ยาถูกเหนี่ยวนำให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสารที่มีพิษต่อตับได้มากขึ้น ในขณะที่ร่างกายมีการสร้างสารที่ช่วยกำจัดพิษดังกล่าวได้ลดลง

                ดังนั้น หากต้องใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็ควรใช้เท่าที่จำเป็น และไม่เกินขนาดที่แนะนำ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

                อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายให้ความเห็นว่า ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมค่ะ

 

                ส่วนผู้ที่ไม่ได้ดื่มประจำ ยังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าการดื่มหนักเป็นครั้งคราว จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพิษต่อตับจากการใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดการรักษา ดังนั้น สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ตามความจำเป็นเช่นกัน แต่ไม่ควรใช้เกินขนาดที่แนะนำนะคะ

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. Graham, Garry & Scott, Kieran & Day, Richard. (2005). Tolerability of Paracetamol*. Drug safety : an international journal of medical toxicology and drug experience. 227-40.
  2. Caparrotta T. M., Antoine D. J., Dear J. W. Are some people at increased risk of paracetamol-induced liver injury? A critical review of the literature. European Journal of Clinical Pharmacology. 2018; 74(2): 147–60. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5765191/pdf/228_2017_Article_2356.pdf)
  3. Chandok N, Watt KD. Pain management in the cirrhotic patient: the clinical challenge. Mayo Clin Proc. 2010; 85(5): 451–458. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2861975/pdf/mayoclinproc_85_5_008.pdf)