เสริมธาตุเหล็กมากเกินไปก็ไม่ดี

เสริมธาตุเหล็กมากเกินไปก็ไม่ดี

                วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มักถูกมองว่าเป็นทางลัดสู่การมีสุขภาพดี และเนื่องจากหาซื้อได้ง่าย จึงอาจมีการใช้ที่เกินความจำเป็น หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม จนในบางครั้งก็เป็นอันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการ ‘บำรุงเลือด’ ซึ่งอาจไม่ทราบว่าการเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปก็ไม่ดีนะคะ

                แล้วควรใช้อย่างไรล่ะ จึงจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การทำลาย?!?

 

  1. ถามตัวเองก่อนว่าเราจำเป็นที่จะต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมจริงหรือ

 

                ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยค่ะ ซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes-Thai RDI) คือ 15 มิลลิกรัม โดยทั่วไปจึงไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก เพราะได้รับเพียงพอแล้วจากอาหารและระบบการหมุนเวียนธาตุเหล็กมาใช้ใหม่ในร่างกายโดยการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ

 

                แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงที่มีประจำเดือน, เด็กในวัยเจริญเติบโต, ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหรือโรคแผลในทางเดินอาหารที่เสียเลือดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักกีฬาที่ฝึกหนัก ก็ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น หรือได้รับยาเสริมธาตุเหล็กบ้างตามจำเป็น แต่รวมแล้วไม่ควรได้รับธาตุเหล็กเกินวันละ 40 – 45 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดที่รับได้ในแต่ละวัน

                อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดจาง แพทย์อาจพิจารณาให้ธาตุเหล็กเสริมในขนาดที่สูงกว่าขนาดที่กล่าวไปข้างต้นนะคะ

 

                ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ การได้รับจากอาหารอาจไม่เพียงพอ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กวันละ 30 – 60 มิลลิกรัมค่ะ

 

 

  1. จะได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งใดบ้าง และมากน้อยเพียงไร

 

                ธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหาร พบได้ทั้งในรูปของ heme iron และ non-heme iron โดยที่อาหารประเภทเนื้อสัตว์จะพบทั้ง 2 รูปแบบ ในขณะที่อาหารประเภทพืชจะพบเฉพาะ non-heme iron เท่านั้น

                และเนื่องจาก heme iron ถูกดูดซึมได้ดีกว่า non-heme iron ดังนั้น อาหารจากเนื้อสัตว์จึงเป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่ถูกดูดซึมได้ดีกว่าอาหารจากพืช

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีธาตุเหล็กสูง

ผลิตภัณฑ์

ปริมาณธาตุเหล็ก

(มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)

ปอดหมู

47.6

กุ้งฝอย

28.0

เลือดหมู

25.9

หอยขม

25.2

หอยแมลงภู่

15.6

ตับหมู

10.5

หอยกะพง

9.8

ปลาดุก

8.1

น่อง, เนื้อ และหนังไก่บ้าน

7.8

หอยแครง

6.4

ปลาช่อน

5.8

ไข่แมงมัน

5.3

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพืชและเห็ดที่มีธาตุเหล็กสูง

ผลิตภัณฑ์

ปริมาณธาตุเหล็ก

(มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)

ผักกูด

36.3

ใบแมงลัก

17.2

ถั่วดำ (ดิบ)

16.5

ใบกะเพราแดง

15.1

ถั่วลิสง (ดิบ)

13.8

ยอดอ่อนกระถิน

9.2

งาดำ (ดิบ)

8.8

ดอกโสน

8.2

ลูกเดือย (ดิบ)

8.0

ใบชะพลู

7.6

งาขาว (ดิบ)

7.4

เห็ดหูหนู

6.1

 

                หากปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับจากอาหาร ไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็อาจพิจารณาการรับประทานเสริมในรูปแบบของยาได้ โดยมีหลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ

                ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาเม็ดสูตรผสมธาตุเหล็กกับวิตามิน/แร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีขนาดบรรจุขวดละ 30 – 100 เม็ดนะคะ

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและวิตามิน

ผลิตภัณฑ์

ปริมาณธาตุเหล็ก

(มิลลิกรัม ต่อ 1 เม็ด)

FBC

66

FERRO – VIT

66

HAEMOVIT

27

KRESS – B – C  

66

NATARAL – EZ

50

OBIMIN – AZ

66

OBIMIN – AZ PLUS

45

STRESSTAB + IRON

27

TRIFERDINE

61

 

 

  1. จะเกิดผลเสียอย่างไร ถ้าได้รับยาเสริมธาตุเหล็กมากเกินความจำเป็น

 

                หากได้รับยาเสริมธาตุเหล็กมากเกินความจำเป็น ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น

                โดยผลข้างเคียงเฉพาะที่จากการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดเป็นแผลและมีเลือดออกหรือทะลุ ทำให้ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด

                และการดูดซึมที่จำกัด ทำให้มีธาตุเหล็กตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณยาเสริมธาตุเหล็กที่ให้ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค จึงอาจทำให้เกิดการอักเสบและการขับถ่ายผิดปกติได้

                ดังนั้น นอกจากไม่ควรรับประทานมากเกินความจำเป็นแล้ว ในภาวะที่มีการอักเสบ/ติดเชื้อ ก็ควรลดปริมาณการใช้เพราะร่างกายจะมีการดูดซึมธาตุเหล็กน้อยลงค่ะ

 

                ส่วนผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากร่างกายมีกลไกควบคุมธาตุเหล็กไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงมากจนทำลายผนังลำไส้รุนแรงและสูญเสียการทำงานตามปกติ ธาตุเหล็กก็จะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้มากจนอาจเกิดพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ, หัวใจ และสมอง

 

 

  1. หากจำเป็นต้องใช้ ควรรับประทานอย่างไรเพื่อให้ธาตุเหล็กดูดซึมได้ดีที่สุด

 

                ควรรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขณะที่ท้องว่าง เนื่องจากอาหาร, นม, ชา, หรือกาแฟ อาจลดการดูดซึมยา อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาให้รับประทานพร้อมอาหารได้ หรือเปลี่ยนไปใช้รูปแบบที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า หากเกิดอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง หรือแสบร้อนยอดอก

                แต่สามารถรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กพร้อมวิตามินซี หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม เพราะในสภาวะที่เป็นกรดเล็กน้อย จะเปลี่ยนธาตุเหล็กให้อยู่ในรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่า

               

               

สรุป

                การรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กเพื่อ ‘ป้องกันการขาดธาตุเหล็ก’ ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป

                และแม้แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงที่มีประจำเดือน, เด็กในวัยเจริญเติบโต, ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหรือโรคแผลในทางเดินอาหารที่เสียเลือดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักกีฬาที่ฝึกหนัก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเพิ่มขึ้นก็น่าจะทำได้รับธาตุเหล็กเพียงพอแล้วนะคะ

                หรือหากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้เพียงพอ อาจพิจารณาการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขนาดต่ำเท่าที่จำเป็น ซึ่งยังคงให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการขาดธาตุเหล็ก แต่มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าการใช้ในขนาดสูงแบบที่นิยมกันแต่เดิม

                โดยแนะนำให้รับประทานในตอนท้องว่างพร้อมวิตามินซีเพื่อให้ธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดี แต่ควรลดขนาดการใช้ในช่วงที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ เพื่อลดปริมาณธาตุเหล็กที่ตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารจากการดูดซึมที่ลดลงค่ะ

 

 

 

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  1. https://www.tci-thaijo.org/index.php/fdajournal/article/download/176156/125751/
  2. http://www.fda.moph.go.th/sites/food/Permission/4.4.8-DRI.pdf
  3. https://www.efsa.europa.eu/sites/default/files/efsa_rep/blobserver_assets/ndatolerableuil.pdf
  4. https://www.who.int/elena/titles/daily_iron_pregnancy/en/
  5. https://www.eatsmartly.net/Files/Name2/CONTENT512241738340.pdf