ยาคุม “ซีราเซท” (Cerazette)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

                ในแผงของ “ซีราเซท” (Cerazette) จะมีเม็ดยาอยู่ 28 เม็ด ซึ่งแต่ละเม็ดจะมีตัวยาฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีชื่อว่า Desogestrel อยู่เม็ดละ 0.075 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้งหมด

                นั่นคือ ทุก ๆ เม็ดในแผงของ “ซีราเซท” จะเป็น “เม็ดยาฮอร์โมน” ค่ะ

ในแผงของซีราเซท มีเม็ดยาฮอร์โมน 28 เม็ด ไม่มีเม็ดยาหลอก

                จึงต่างจากยาคุมแบบ 28 เม็ดส่วนใหญ่ที่เป็นชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งจะมีทั้ง “เม็ดยาฮอร์โมน” และ “เม็ดยาหลอก” อยู่ในแผง

 

                “ซีราเซท” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว (Progestin-only pills) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ายาคุมฮอร์โมนเดี่ยว และอาจจัดไว้ในกลุ่มย่อยประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low-dose progestin-only pills หรือ Minipills)

 

                Desogestrel เป็นฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นที่ 3 ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกได้ดีกว่าฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นที่ 1 อย่าง Lynestrenol แล้ว ยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนลดลงมาก การใช้ “ซีราเซท” จึงอาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ และไม่ค่อยพบปัญหาสิวฮอร์โมน, หน้ามัน หรือขนดก

 

                และเนื่องจากยาคุมชนิดนี้มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน จึงเป็นทางเลือกในการคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทนกับอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือฝ้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน

                ทั้งยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่ายาคุมฮอร์โมนรวม สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน/อ้วน, มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปและสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เนื่องจากไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE)

 

                ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำนม, ปริมาณน้ำนม หรือระยะเวลาการให้นม จึงสามารถใช้ได้ในระหว่างที่ให้นมบุตรนะคะ

                ซึ่งแม้องค์การอนามัยโลกจะแนะนำว่า สามารถใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมได้เช่นกัน (โดยเลือกประเภทที่มีฮอร์โมนต่ำหรือต่ำมาก และหลีกเลี่ยงการใช้ในช่วงหลังคลอด 3 หรือ 6 สัปดาห์แรกเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ) แต่ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าค่ะ

 

                แต่ผลข้างเคียงเด่นของยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ก็คือ อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือดไม่ได้ออกมามากหรือนานผิดปกติ ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงไม่ต้องกังวล

 

                น้ำหนักที่มาก หรือค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จึงไม่ต้องเพิ่มขนาดการใช้ แต่ควรรับประทานให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด

                ซึ่งหากรับประทาน “ซีราเซท” คลาดเคลื่อนจากเวลาปกติไม่เกิน 12 ชั่วโมง จะถือว่ายังมีผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่อง (แต่ประสิทธิภาพอาจไม่สูงเท่ากับการรับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอ)

               

                แม้ยาคุมชนิดนี้จะมีความปลอดภัยสูง แต่การใช้ในผู้ป่วย หรือมีประวัติการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด,  มะเร็งเต้านม, ตับแข็งระยะท้าย, มะเร็งเซลล์ตับ ก็อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้

                และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

                ดังนั้น ผู้ที่ป่วย, มีประวัติการเจ็บป่วย หรือรับประทานยาและสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ

 

                “ซีราเซท” เป็นยาคุมที่ผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปัจจุบัน นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัทออร์กานอน ประเทศไทย จำกัด (Organon Thailand Ltd.)

                อย่างไรก็ตาม ยาคุมรุ่นเดิม ที่นำเข้าโดย บริษัท เอ็มเอสดี ประเทศไทย จำกัด (MSD Thailand Ltd.) อาจมีตกค้างอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งหากว่ายังไม่หมดอายุ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

ยาคุมซีราเซท โฉมเดิม นำเข้าโดยบริษัทเอ็มเอสดี

ซีราเซท (รูปแบบเดิม)

ยาคุมซีราเซท โฉมใหม่ นำเข้าโดยบริษัทออร์กานอน

ซีราเซท (โฉมใหม่)

                และแม้ว่าจะเปลี่ยนบริษัทผู้นำเข้า แต่ “ซีราเซท” ยังมีราคาเท่าเดิม คือแผงละ 220 – 250 บาทโดยประมาณ อีกทั้ง รูปแบบการใช้ก็ไม่ต่างกันค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Progestogen – only Pills. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, August 2022. (Amended July 2023)
  2. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. Shoupe D. The Progestin Revolution: progestins are arising as the dominant players in the tight interlink between contraceptives and bleeding control. Contracept Reprod Med. 2021 Jan 7;6(1):3.