เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ยาคุมรายเดือนที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (Progestin-only pills) อาจมีภาพจำว่าเป็น “ยาคุมสำหรับหญิงให้นมบุตร” เนื่องจากไม่กดการสร้างน้ำนม จึงถูกแนะนำให้กับหญิงหลังคลอดที่ต้องการใช้ยาคุมรายเดือนในระหว่างที่ให้นมอยู่
ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า สามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำ หรือต่ำมาก ในหญิงที่ให้นมบุตรได้นะคะ เพราะพบว่ายาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.035 มิลลิกรัม ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนม, ปริมาณน้ำนม และระยะเวลาการให้นม แต่ควรรอให้ผ่าน 6 สัปดาห์หลังคลอดไปก่อนจึงค่อยเริ่มใช้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่พบผลอันไม่พึงประสงค์ใด ๆ ต่อทารก แต่ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวก็ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับหญิงให้นมบุตรค่ะ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดซึ่งแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าน้ำนมแม่ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน โดยไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนรวมอยู่ด้วย ผู้ใช้จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาการบวมน้ำหรือการเกิดฝ้าจากยาคุม
และแม้ว่าอาจพบอาการคลื่นไส้, อาเจียน หรือปวดศีรษะได้บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ดังนั้น หญิงที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ก็สามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีข้อจำกัดในการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หรือทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton), “ซีราเซท” (Cerazette) และ “สลินดา” (Slinda)
ซึ่งยาคุมทั้ง 4 ยี่ห้อ มีรายละเอียดที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกัน ดังนี้
Low-dose progestin-only pills (Minipills) |
High-dose progestin-only pill |
||
เอ็กซ์ลูตอน (Exluton) |
เดลิต้อน (Dailyton) |
ซีราเซท (Cerazette) |
สลินดา (Slinda) |
ด้านหน้า : |
|||
ด้านหลัง : |
|||
ตัวยาสำคัญ : Lynestrenol 0.5 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 28 เม็ด |
ตัวยาสำคัญ : Desogestrel 0.075 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 28 เม็ด |
ตัวยาสำคัญ : Drospirenone 4 มิลลิกรัม จำนวน 24 เม็ด และมีเม็ดยาหลอกอีก 4 เม็ด |
|
คุณสมบัติ : 1. โปรเจสตินรุ่นที่ 1 2. ยับยั้งไข่ตกได้ไม่ดีนัก กลไกหลักจึงเป็นการทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ 3. มีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง จึงอาจมีสิว หน้ามัน หรือขนดก |
คุณสมบัติ : 1. โปรเจสตินรุ่นที่ 3 2. ยับยั้งไข่ตกได้ดีใกล้เคียงกับยาคุมฮอร์โมนรวม 3. มีฤทธิ์แอนโดรเจนต่ำ จึงไม่ค่อยพบสิว หน้ามัน หรือขนดก |
คุณสมบัติ : 1. โปรเจสตินรุ่นที่ 4 2. ยับยั้งไข่ตกได้ดีใกล้เคียงกับยาคุมฮอร์โมนรวม 3. ต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงช่วยลดสิว หน้ามัน หรือขนดก 4. มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงไม่ทำให้บวมน้ำ |
|
ข้อควรระวัง : รับประทานช้าได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง |
ข้อควรระวัง : รับประทานช้าได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง |
ข้อควรระวัง : รับประทานช้าได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง |
|
วิธีใช้ : แกะเม็ดยาที่ระบุตัวย่อตรงกับวันที่ใช้มารับประทาน ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ครบ 28 เม็ดแล้วให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา |
วิธีใช้ : แกะเม็ดยาหมายเลข 1 มารับประทานก่อน แล้วเลือกแถบสติกเกอร์ตามวันที่เริ่มใช้ มาติดไว้ตรงจุดที่กำหนด เพื่อให้ตรวจสอบประจำวันได้ง่าย จากนั้นก็ใช้ต่อตามลำดับ ครบ 28 เม็ดแล้วให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา |
||
การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ |
การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ |
|
ราคา : 110 – 140 บาท |
ราคา : 90 – 120 บาท |
ราคา : 220 – 250 บาท |
ราคา : 320 – 350 บาท |
การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ถือเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวนะคะ แม้ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ (ยกเว้นมีเลือดออกมามากหรือนานเกินไป) แต่ก็มักสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก เมื่อเทียบกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
แต่ยาคุมตัวใหม่อย่าง “สลินดา” จะใช้ฮอร์โมนในปริมาณสูงขึ้น และปรับรูปแบบให้มีช่วงปลอดฮอร์โมน เช่นเดียวกับการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นรอบปกติในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ “สลินดา” อาจไม่มีประจำเดือนมาในช่วงปลอดฮอร์โมนก็ได้ และยังอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือนได้เช่นกันกับยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ
Lynestrenol เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 1 ซึ่งมีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง ในขณะที่ Desogestrel เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 3 มีฤทธิ์แอนโดรเจนลดลงแล้ว ดังนั้น การใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” จึงอาจพบปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้มากกว่า “ซีราเซท” นะคะ
ส่วน Drospirenone เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 4 และมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงน่าจะช่วยลดสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากบริษัทชี้ว่า มีผู้ใช้ 3.8% เกิดสิวหลังรับประทาน “สลินดา” ค่ะ
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน/อ้วน, มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปและสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีกทั้ง หากจำเป็นก็สามารถใช้ได้ทันทีหลังคลอดบุตร
แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และควรหลีกเลี่ยงการใช้ สำหรับผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม, มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง, ป่วยหรือเคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด, ผู้ป่วยมะเร็งตับ หรือเป็นโรคตับแข็งระยะท้าย
และเนื่องจาก Drospirenone จะไปเพิ่มการดูดกลับแร่ธาตุที่มีชื่อว่าโพแทสเซียม จึงควรระวังอันตรายจากภาวะโพแทสเซียมสูง โดยเฉพาะผู้ที่ไตทำงานบกพร่อง หรือได้รับยา, สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด
ดังนั้น ข้อจำกัดเพิ่มเติมสำหรับ “สลินดา” ก็คือ ห้ามใช้ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน หรือเป็นโรคไตเรื้อรังระยะรุนแรง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมสูง และผู้ป่วยโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) หรือโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องที่ไม่ได้รักษา รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มเก็บกลับโพแทสเซียม (Potassium-sparing diuretics) และผลิตภัณฑ์เสริมโพแทสเซียม
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงที่ไตจะทำงานบกพร่อง เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี หากต้องการใช้ “สลินดา” ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ
ผลในการยับยั้งไข่ตกของ Desogestrel และ Drospirenone สูงกว่า Lynestrenol มาก ดังนั้น นอกจากจะคุมกำเนิดได้ “ซีราเซท” และ “สลินดา” ก็อาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่า ยาคุมสูตรใดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่า เพราะนอกจากการยับยั้งไข่ตกแล้ว ยาคุมก็ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนผ่านของอสุจิ หรือทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางฝ่อ ไม่พร้อมรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิ
ดังนั้น หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ การใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” ก็ยังเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพดี อีกทั้งยังมีราคาย่อมเยา
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวสูตรตัวยา Lynestrenol และ Desogestrel มีใช้มานานแล้ว ทำให้เก็บข้อมูลได้มาก วิธีใช้ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” และ “ซีราเซท” จึงสามารถอ้างอิงตามแนวทางมาตรฐานได้ค่ะ
แต่ข้อมูลเกี่ยวกับยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวใหม่ ที่เป็นตัวยา Drospirenone ยังมีจำกัด อีกทั้ง แนวทางที่มีส่วนใหญ่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึง ดังนั้น วิธีใช้ “สลินดา” จึงอ้างอิงจากคำแนะนำของผู้ผลิตไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลที่มากขึ้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น แนวทางการใช้ของ “สลินดา” จึงอาจแตกต่างไปจากยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวยี่ห้ออื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” แผงแรก สำหรับผู้ที่มีประจำเดือน ควรเริ่มรับประทานภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดทันที
หรือถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และไม่ต้องการรอให้ประจำเดือนมาก่อน ก็สามารถเริ่มใช้ได้เลย แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” ติดต่อกันครบ 2 วัน (หรือเท่ากับ 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่เริ่มใช้)
แต่สำหรับการใช้ “สลินดา” แผงแรก เมื่อเริ่มรับประทานในวันแรกของการมีประจำเดือน จึงจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดทันที
ส่วนการใช้ในวันที่ 2 – 5 ของการมีประจำเดือน หรือถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ก็สามารถเริ่มใช้หลังจากนั้นก็ได้ จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทาน “สลินดา” ติดต่อกันครบ 7 วัน
การรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ไม่เหมาะกับคนขี้ลืมนะคะ เพราะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาก็อาจทำให้ผลคุมกำเนิดไม่ต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์
โดยยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นดั้งเดิม อย่าง “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” จะไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องหากรับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดเกินกว่า 3 ชั่วโมง
ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นใหม่ ๆ นั้น มีการออกฤทธิ์ที่นานขึ้น จึงมีความยืดหยุ่นในการรับประทานผิดเวลาได้มากกว่า นั่นคือ ไม่เกิน 12 ชั่วโมงสำหรับ “ซีราเซท” และไม่เกิน 24 ชั่วโมงสำหรับ “สลินดา” ค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare. FSRH CEU Statement: Drospirenone 4mg Progestogen-only Pill (Slynd®). 10 January 2024.
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare. FSRH Clinical Guideline: Progestogen-only Pills. August 2022 (amended July 2023).
- Shoupe D. The Progestin Revolution: progestins are arising as the dominant players in the tight interlink between contraceptives and bleeding control. Contracept Reprod Med. 2021 Jan 7;6(1):3.
- เอกสารกำกับยา – Slinda®