ยาคุม “มินนี่” (Minny)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

                ยาคุมยี่ห้อนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบนะคะ ได้แก่ “มินนี่” (Minny) ที่เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด ซึ่งจะได้กล่าวถึงในครั้งนี้ และอีกรูปแบบก็คือ “มินนี่ 28” (Minny 28) ที่เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ซึ่งจะได้กล่าวถึงในครั้งต่อไป

ยาคุมยี่ห้อนี้มี 2 รูปแบบ ก็คือ มินนี่ ที่มี 21 เม็ด และ มินนี่28 ที่มี 28 เม็ด

 

                เม็ดยาแต่ละเม็ดในแผงของ “มินนี่” (Minny) จะมีตัวยาฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน คือ Desogestrel 0.15 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 21 เม็ด

ในแผงของมินนี่ มีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด ไม่มีเม็ดยาหลอก

 

                เมื่อพิจารณาจากปริมาณของ Ethinyl estradiol ที่มีไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม จึงจัดว่า “มินนี่” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ซึ่งผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยมากจากการใช้ยาคุมประเภทนี้

                แต่ก็อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                ส่วนโปรเจสตินรุ่นที่ 3 อย่าง Desogestrel แม้ว่าจะยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่ก็ลดลงมากจากรุ่นก่อน ผลข้างเคียงเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดก จึงพบได้น้อย

  

                ในอดีต เคยมีความกังวลว่า การใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป อาจไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่เท่าที่ควร และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                แต่หลักฐานส่วนใหญ่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ถ้ารับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ หากต้องการ ก็สามารถใช้ “มินนี่” ได้นะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

                แม้หลาย ๆ แนวทางจะแนะนำว่า ถ้าไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย ผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2 ก็ยังสามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมได้ แต่ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

                ซึ่งบางแนวทางก็แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า ถ้ามีค่า BMI > 35 kg/m2

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ Desogestrel อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                แต่ถ้าเปรียบเทียบยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน สูตรที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่าค่ะ

                ดังนั้น “มินนี่” ซึ่งมี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Desogestrel (หรือ ยาคุมสูตร EE/DSG) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ

                เพราะแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

 

                “มินนี่” เป็นยาคุมสูตรเดียวกับ “เมอซิลอน” (Mercilon) แต่ผลิตภายในประเทศ โดยบริษัทไบโอแลป จำกัด (Biolab co.ltd) และจัดจำหน่ายโดยบริษัทไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด (Biopharm chemicals co.ltd) มีราคาประมาณ 110 – 140 บาทค่ะ

ยาคุมมินนี่

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.