กินดีท็อกซ์แล้วถ่าย ต้องกินยาคุมซ้ำมั้ย

กินดีท็อกซ์แล้วถ่าย ต้องกินยาคุมซ้ำมั้ย

                หากใช้ยาระบาย หรือผลิตภัณฑ์ประเภทดีท็อกซ์ แล้วทำให้ถ่ายอุจจาระหลังกินยาคุม ไม่ว่าจะเป็นยาคุมรายเดือนหรือยาคุมฉุกเฉินก็ตาม จำเป็นจะต้องกินยาคุมซ้ำมั้ย หรือควรทำอย่างไรดี

 

                แม้ว่ายาและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทดีท็อกซ์ที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ไม่ได้ถูกห้ามใช้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด แต่หากทำให้อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง ก็อาจรบกวนการดูดซึมยาคุมได้นะคะ

                อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า การถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำจะลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดมากหรือน้อยเพียงใด แต่ละแหล่งอ้างอิงจึงอาจกำหนดแนวทางแก้ไขแตกต่างกันไป ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือคณะทำงานของหน่วยงานนั้น ๆ

 

                คำแนะนำที่ใช้ในประเทศไทย มักอ้างอิงแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ผู้ให้คำปรึกษาบางคนอาจอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลอื่น

                ซึ่งในบทความนี้ นอกจากจะใช้แนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหลักแล้ว ยังแนะนำแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) มาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความกังวลมาก หรือต้องการทราบแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ เพิ่มเติมค่ะ

                โดยแบ่งยาเม็ดคุมกำเนิดเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ยาคุมฉุกเฉิน
  2. ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนรวม
  3. ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

 

 

  1. ยาคุมฉุกเฉิน

 

                ผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทดีท็อกซ์ รวมไปถึงยาและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบาย แม้ว่าจะทำให้ถ่ายอุจจาระหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) พิจารณาว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกนะคะ

                อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ที่กังวลว่าการดูดซึมยาอาจถูกรบกวน ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกครั้ง ตามคำแนะนำของคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) หากยังไม่เกินเวลาที่กำหนดให้ใช้ได้

                โดยยาคุมฉุกเฉินที่มีใช้อยู่ในประเทศไทย คือ ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ซึ่งหากอ้างอิงวิธีใช้ตาม FSRH จะแนะนำให้ใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ (ในขณะที่ WHO และ CDC แนะนำให้ใช้ได้หากยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ)

 

 

  1. ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนรวม

 

                ผู้ที่รับประทานยาระบายหรือผลิตภัณฑ์ประเภทดีท็อกซ์ ถ้าทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง นั่นคือ ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่าหากสามารถทำได้ ก็ควรรับประทานยาคุมให้ต่อเนื่องเหมือนเดิม

                และเมื่อรับประทานยาคุมในวันนั้นไปแล้ว ก็ให้รอรับประทานยาคุมในวันถัดไปตามเวลาปกติ ไม่จำเป็นจะต้องใช้ซ้ำอีกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ

 

                ในกรณีที่ท้องเสียอย่างรุนแรงและต่อเนื่องกันนาน 48 ชั่วโมงขึ้นไป ควรพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เช่น ใช้ถุงยางป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วัน โดยเริ่มนับหลังจากที่การถ่ายเหลวหายดีแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่ายาคุมจะไม่ถูกรบกวนการดูดซึมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันตามปกติ

                และควรรับประทานยาคุมฉุกเฉิน หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ประสิทธิภาพของยาคุมอาจลดลง โดยรับประทานให้เร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

 

                ซึ่งผู้ที่มีความกังวลมาก อาจเริ่มใช้มาตรการป้องกันเพิ่มเติม ตั้งแต่ที่ท้องเสียอย่างรุนแรงและต่อเนื่องกันนาน 24 ชั่วโมงขึ้นไป ตามคำแนะนำของคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) ก็ได้นะคะ

 

 

  1. ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

 

                ผู้ที่รับประทานยาระบายหรือผลิตภัณฑ์ประเภทดีท็อกซ์แล้วท้องเสียอย่างรุนแรง นั่นคือ ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง หลังรับประทานเอ็กซ์ลูตอน (Exluton), เดลิต้อน (Dailyton) หรือ ซีราเซท (Cerazette) องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำในลักษณะเดียวกันกับกรณีของยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนรวมค่ะ

                นั่นคือ ควรรับประทานยาคุมต่อเนื่องวันละเม็ดตามปกติถ้าทำได้ และหากท้องเสียอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ก็ควรป้องกันเพิ่มเติมตามแนวทางแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เช่น ใช้ถุงยางป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปจนกว่าจะได้รับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 48 ชั่วโมง โดยเริ่มนับหลังจากที่การถ่ายเหลวหายดีแล้ว

                และควรรับประทานยาคุมฉุกเฉิน หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ประสิทธิภาพของยาคุมอาจลดลง โดยรับประทานให้เร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

 

                อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความกังวลมาก อาจเลือกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) แทนได้นะคะ

                นั่นคือ ถ้าถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำภายใน 3 ชั่วโมงหลังรับประทานเอ็กซ์ลูตอน, เดลิต้อน หรือ ซีราเซท ให้รับประทานซ้ำอีก 1 เม็ดทันทีที่ทำได้

                หากใช้เอ็กซ์ลูตอนหรือเดลิต้อน ซ้ำไม่ทันภายใน 3 ชั่วโมงนับจากเวลาปกติที่เคยใช้ หรือใช้ซีราเซทซ้ำไม่ทันภายใน 12 ชั่วโมงนับจากเวลาปกติที่เคยใช้ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย จนกว่าจะรับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 48 ชั่วโมง โดยเริ่มนับหลังจากที่การถ่ายเหลวหายดีแล้ว

                และรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ยาคุมรายเดือนอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

                หรือถ้าท้องเสียอย่างรุนแรงภายใน 3 – 4 ชั่วโมงหลังรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนของสลินดา (Slinda) ให้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนซ้ำอีก 1 เม็ดทันทีที่ทำได้ ตามแนวทางของ FSRH ค่ะ

                หากใช้ซ้ำไม่ทันภายใน 24 ชั่วโมงนับจากเวลาปกติที่เคยใช้ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย จนกว่าจะรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วัน โดยเริ่มนับหลังจากที่การถ่ายเหลวหายดีแล้ว

                และควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ยาคุมรายเดือนอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอนะคะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016. 
  2. WHO Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use: Quick Reference Chart for Category 3 and 4, 2016.
  3. S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2016.
  4. Summary Chart of U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use (Updated in 2020).
  5. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception, January 2019 (Amended November 2020).
  6. FSRH Guideline: Progestogen-only Pills, August 2022 (Amened October 2022).
  7. FSRH Clinical Guidance: Drug Interactions with Hormonal Contraception, May 2022.