ยาคุม “เฮอร์ซ” (Herz)

ยาคุมเฮอร์ซ

                “เฮอร์ซ” (Herz) เป็นยาคุมที่มีรูปแบบเป็น 24/4 regimen นั่นคือ ในแผง 28 เม็ดจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” สีชมพู จำนวน 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” สีขาว จำนวน 4 เม็ด

                โดย “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “เฮอร์ซ” จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน คือ Drospirenone 3 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 24 เม็ด

                ส่วน “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ดนั้น เป็นเพียงเม็ดแป้ง ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อที่ผู้ใช้จะได้ไม่ลืมกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่

 

                “เฮอร์ซ” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม จึงไม่ค่อยพบอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน

                แต่ปริมาณเอสโตรเจนที่ต่ำมาก ก็อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย โดยเฉพาะหากรับประทานไม่ตรงเวลา

 

                ส่วนโปรเจสตินรุ่นที่ 4 อย่าง Drospirenone นอกจากจะมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน ช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน และขนดก ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มจากการบวมน้ำ

                และยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Drospirenone (หรือ ยาคุมสูตร EE/DRSP) ใช้รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านมได้ค่ะ

 

                ยาคุมที่มีรูปแบบเป็น 24/4 regimen จะมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ๆ ซึ่งในทางทฤษฎีเชื่อว่าสามารถกดการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่า จึงลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                การที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมาก และมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ยังทำให้ฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก การใช้ “เฮอร์ซ” จึงช่วยลดอาการท้องอืด, ปวดศีรษะ และปวดอุ้งเชิงกราน ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลอดฮอร์โมน (Hormone withdrawal – associated symptoms; HWaS) รวมถึงช่วยลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy menstrual bleeding; HMB) ด้วย

 

                ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือการมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป สามารถใช้ “เฮอร์ซ” ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของประสิทธิภาพนะคะ

                เนื่องจากหลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด เหมือนที่เคยกังวลกันในอดีต หากผู้ใช้ยาคุมรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                แต่ก็ควรระวังว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) อาจเพิ่มขึ้น หากใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมในผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2

                และเพื่อความปลอดภัย บางแนวทางก็มีคำแนะนำว่า ผู้ที่มีค่า BMI > 35 kg/m2 ควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

 

                ซึ่งยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ Drospirenone อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณของเอสโตรเจน โดยเฉพาะยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน ถ้ามี Ethinyl estradiol น้อยกว่า ก็มีแนวโน้มที่ความเสี่ยงจะต่ำกว่า

                ดังนั้น หากจะใช้ยาคุมสูตร EE/DRSP การเลือกยี่ห้อที่มี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม อย่าง “เฮอร์ซ” อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่กังวล หรือต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                ถึงแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

                ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

 

                “เฮอร์ซ” เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ โดยบริษัทไบโอแลป จำกัด (Biolab co.ltd) และจัดจำหน่ายโดยบริษัทไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด (Biopharm chemicals co.ltd) มีราคาประมาณแผงละ 290 – 330 บาท ซึ่งถูกกว่ายาคุมสูตรเดียวกันที่เป็นยานำเข้าอย่าง “ยาส” และ “ซินโฟเนีย”

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. RCOG Green-top Guideline No.48: Management of Premenstrual Syndrome. Royal College of Obstetricians and Gynaecologists, February 2017.
  4. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  5. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.

 

 

…(((ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2566)))…

 

 

อ่านเพิ่มเติม วิธีรับประทานยาคุมเฮอร์ซ