เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
“มาร์นอน” (Marnon) เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด โดยเม็ดยาสีขาวจำนวน 21 เม็ด จะเรียกว่า “เม็ดยาฮอร์โมน” ซึ่งตัวยาสำคัญในแต่ละเม็ดจะประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.05 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน Norgestrel 0.5 มิลลิกรัม
ส่วนเม็ดยาสีแดงจำนวน 7 เม็ด จะเรียกว่า “เม็ดยาหลอก” หรืออาจเรียกว่า “เม็ดแป้ง” เพราะไม่ได้มีตัวยาสำคัญใด ๆ แต่ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ เพื่อให้ใช้ยาคุมได้ต่อเนื่องกันทุกวัน โดยไม่ต้องเว้นว่างในช่วงปลอดฮอร์โมน จึงไม่ต้องกลัวว่าจะลืมต่อยาคุมแผงใหม่ตามกำหนด
“มาร์นอน” จัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนสูง (High dose pills) เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol 0.05 มิลลิกรัม ดังนั้น ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ และการเกิดฝ้า จึงอาจพบได้มาก
นอกจากนี้ Norgestrel ก็เป็นโปรเจสตินรุ่น 2 ที่ยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง ผู้ใช้ “มาร์นอน” จึงอาจพบปัญหาสิวฮอร์โมน, หน้ามัน หรือขนดก
การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้
ความเสี่ยงจะมากขึ้น สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีค่า BMI > 35 kg/m2
ซึ่งยาคุมที่มีฮอร์โมนสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงได้มากกว่ายาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำกว่า
ทั้งผลข้างเคียง และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่มากกว่ายาคุมฮอร์โมนต่ำ ในปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้ยาคุมฮอร์โมนสูงเพื่อคุมกำเนิด ยกเว้นกับผู้ใช้บางรายที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิดที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุม และไม่สามารถเลือกวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่าได้
อย่างไรก็ตาม อาจมีการใช้ยาคุมฮอร์โมนสูงเพื่อประโยชน์ในทางอื่นที่ไม่ใช่การคุมกำเนิดค่ะ เช่น การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในบางกรณี
จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ “มาร์นอน” และยาคุมฮอร์โมนสูงยี่ห้ออื่น ๆ นะคะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, หรือผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่นอกเหนือจากการคุมกำเนิด
“มาร์นอน” เป็นยาคุมแผงเปลือย นั่นคือ ไม่ได้มีกล่องหรือซองสำหรับบรรจุแยกแต่ละแผง ผลิตโดยบริษัท เอเชี่ยน ยูเนี่ยน แล็บบอราตอรี่ จำกัด (Asian Union Laboratories co.ltd) มีราคาประมาณ 20 – 30 บาทค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.