รับประทานยาคุม “แอนนา” อยู่ แต่อยากเปลี่ยนมาใช้ “พรีม” เพื่อช่วยเรื่องสิวด้วย จะมีอาการข้างเคียงหรือไม่ และจะคุมกำเนิดได้เหมือนกันหรือเปล่า แล้วจะต้องเริ่มรับประทานยังไง
ทั้ง “แอนนา” และ “พรีม” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมเหมือนกัน โดยในแต่ละแผงก็มีจำนวนเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ดเท่ากันด้วยนะคะ
เม็ดฮอร์โมนของ “แอนนา” จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีชื่อว่า เอทธินิล เอสตราไดออล (Ethinyl estradiol) เม็ดละ 0.03 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีชื่อว่า ลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เม็ดละ 0.15 มิลลิกรัม
ส่วนเม็ดฮอร์โมนของ “พรีม” จะมี เอทธินิล เอสตราไดออล เม็ดละ 0.035 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีชื่อว่า ไซโปรเทอโรน อะซีเตท (Cyproterone acetate) เม็ดละ 2 มิลลิกรัม
แม้ว่า “พรีม” จะมีเอสโตรเจนมากกว่า “แอนนา” แต่ก็มากกว่าเพียงเล็กน้อย และเพราะปริมาณ เอทธินิล เอสตราไดออล ที่น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม จึงจัดอยู่ในกลุ่มของยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำเหมือนกันทั้งคู่
โดยผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมน้ำ หรือฝ้า อาจพบจาก “แอนนา” ได้น้อยกว่า หรือไม่ต่างกับ “พรีม” ค่ะ
ลีโวนอร์เจสเทรล เป็นฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง จึงอาจพบปัญหาเรื่องสิว หน้ามัน หรือขนดกได้ ในขณะที่ ไซโปรเทอโรน อะซีเตท เป็นโปรเจสตินที่มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน และขนดก ในผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ยาคุมฮอร์โมนต่ำสูตรที่มี เอทธินิลเอสตราไดออลรวมกับลีโวนอร์เจสเทรล อย่าง “แอนนา” (และอีกหลาย ๆ ยี่ห้อ) ถือเป็นทางเลือกแรกที่ควรใช้สำหรับคุมกำเนิดนะคะ เนื่องจากพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดน้อยกว่าสูตรอื่น ๆ โดยพบเพียง 5 – 7 ราย ต่อผู้ใช้ 10,000 คนต่อปี1 (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “ยาคุมสูตรไหนที่ควรใช้เป็นทางเลือกแรก“)
ซึ่งแม้ว่ายาคุมฮอร์โมนต่ำสูตรที่มี เอทธินิลเอสตราไดออลรวมกับไซโปรเทอโรน อะซีเตท อย่าง “พรีม” (และอีกหลาย ๆ ยี่ห้อ) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคุมกำเนิดในผู้ที่มีปัญหาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่ก็เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดมากกว่า โดยพบได้ 9 – 12 ราย ต่อผู้ใช้ 10,000 คนต่อปี1
ถึงผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้ง “แอนนา” และ “พรีม” สามารถคุมกำเนิดได้ไม่ต่างกันค่ะ โดยการใช้ตามปกติ (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7% ส่วนการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3%2
ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกยาคุมยี่ห้อใด หากต้องการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ก็ควรรับประทานอย่างถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอนะคะ
วิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนจากยาคุมฮอร์โมนรวมยี่ห้อหนึ่ง ไปเป็นยาคุมฮอร์โมนรวมอีกยี่ห้อ ก็คือ เริ่มใช้ยี่ห้อใหม่ตรงกับวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมของยี่ห้อเดิม3 โดยรับประทาน “แอนนา” ไปจนครบ 28 เม็ด จากนั้นจึงเริ่มรับประทาน “พรีม” ในวันถัดมา
หรือจะเริ่มยาคุมยี่ห้อใหม่ โดยไม่รอให้ยี่ห้อเดิมหมดก่อนก็ได้4 นั่นคือ หยุดรับประทาน “แอนนา” ได้เลย แล้วเปลี่ยนไปใช้ “พรีม” แทน แต่ถ้าข้ามเม็ดหลอกของ “แอนนา” ก็จะทำให้ประจำเดือนรอบนั้นถูกเลื่อนออกไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพค่ะ โดยประจำเดือนจะมาในช่วงปลอดฮอร์โมนของ “พรีม” นั่นเอง
หากรับประทานถูกต้องและมีผลคุมกำเนิดจาก “แอนนา” แล้ว ไม่ว่าจะรอจนหมดแผงก่อน หรือจะเปลี่ยนทันทีทั้งที่ยังไม่หมดแผง ก็ถือว่ายาคุม “พรีม” ที่เริ่มใช้ ให้ผลคุมกำเนิดต่อเนื่องทันที จึงมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย
ยาคุม “แอนนา” มีเฉพาะรูปแบบ 28 เม็ด โดยมีเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ด รวมกับเม็ดหลอก 7 เม็ด และให้รับประทานจากจุดเริ่มต้นที่เป็นลูกศรขนาดใหญ่ แล้วใช้เรียงตามลูกศรไปจนครบทั้ง 28 เม็ด จากนั้นก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดหลอก โดยมักจะมาตรงกับเม็ดหลอกเม็ดที่ 3 – 4 หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย
แต่สำหรับยาคุม “พรีม” จะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ “พรีม” ซึ่งเป็นยาคุม 21 เม็ด โดยทุก ๆ เม็ดจะเป็นเม็ดฮอร์โมน ไม่มีเม็ดหลอก และให้แกะเม็ดยามาใช้ให้ตรงวัน เรียงตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนครบ 21 เม็ด จากนั้นก็เว้นว่าง 7 เป็นเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมน แล้วต่อแผงใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่าง ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงปลอดฮอร์โมน โดยมักจะมาตรงกับวันที่ 3 – 4 ของการเว้นว่าง หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย
การเปลี่ยนจาก “แอนนา” เป็น “พรีม” จะใช้ “แอนนา” จนหมดแผงก่อน หรือจะไม่รอให้หมดแผงก็ได้ เมื่อหยุดยาคุม “แอนนา” แล้ว ก็เริ่มรับประทาน “พรีม” ได้เลย โดยแกะเม็ดยาที่ระบุตัวย่อตรงกับวันที่ใช้ มารับประทานวันละเม็ด เรียงตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนหมดแผง จากนั้นก็เว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่
ส่วน “พรีม 28” เป็นยาคุม 28 เม็ด โดยมีเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ด รวมกับเม็ดหลอก 7 เม็ด และให้เริ่มรับประทานจากหมายเลข 1 แล้วเรียงตามลำดับวันละเม็ด ไปจนถึงหมายเลข 28 จากนั้นก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา ประจำเดือนจะมาในช่วงที่ใช้เม็ดหลอก ซึ่งถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนของแผง โดยมักจะมาตรงกับเม็ดหลอกเม็ดที่ 3 – 4 (ซึ่งก็คือเม็ดยาหมายเลข 24 – 25 ของแผง) หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย
การเปลี่ยนจาก “แอนนา” เป็น “พรีม 28” จะใช้ “แอนนา” จนหมดแผงก่อน หรือจะไม่รอให้หมดแผงก็ได้ เมื่อหยุดยาคุม “แอนนา” แล้ว ก็เริ่มรับประทาน “พรีม 28” จากหมายเลข 1 แล้วใช้ต่อวันละเม็ด เรียงตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนถึงหมายเลข 28 จากนั้นก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา
จะเห็นได้ว่าทั้ง “แอนนา” และ “พรีม 28” จะให้รับประทานจนครบ 28 เม็ด จากนั้นก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา การเปลี่ยนจาก “แอนนา” ไปเป็น “พรีม 28” ซึ่งมีวิธีการใช้ที่ใกล้เคียงกัน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อลดความสับสนที่อาจทำให้ใช้ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนจาก “แอนนา” ไปเป็น “พรีม” ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อใช้ “พรีม” ครบ 21 เม็ดแล้ว ก็อย่าลืมว่าจะต้องเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ด้วยนะคะ
เพราะในแผงของ “พรีม” ไม่มีเม็ดหลอกเหมือนกับ “แอนนา” และ “พรีม 28” ดังนั้น ถ้าใช้ “พรีม” หมดแล้วก็ต่อแผงใหม่โดยไม่เว้นว่างก่อน จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา หรือถ้าลืมต่อแผงใหม่ โดยเว้นว่างนานเกิน 7 วัน ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง หรือไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
- Guidance for Industry: Labeling for combined oral contraceptives. Draft guidance. S. Department of Health and Human Services Food and Drug Administration Center for Drug Evaluation and Research (CDER); December 2017.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.