เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
“ซินโฟเนีย” (Synfonia) เป็นยาคุมที่มีรูปแบบเป็น 24/4 regimen ค่ะ นั่นคือ ในแผง 28 เม็ดจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” สีชมพู จำนวน 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” สีขาว จำนวน 4 เม็ด
โดย “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “ซินโฟเนีย” จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน คือ Drospirenone 3 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 24 เม็ด
ส่วน “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ดนั้น เป็นเพียงเม็ดแป้ง ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อที่ผู้ใช้จะได้ไม่ลืมกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่
เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม “ซินโฟเนีย” จึงจัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ดังนั้น ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จึงพบได้น้อยมากนั่นเอง
แต่ปริมาณเอสโตรเจนที่ต่ำมาก ก็อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย โดยเฉพาะหากรับประทานไม่ตรงเวลา
ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Drospirenone (หรือ ยาคุมสูตร EE/DRSP) ถูกแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกของการรักษาด้วยยา สำหรับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม
และการที่ Drospirenone มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงเหมาะกับผู้ที่กังวลเรื่องน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้นหรือการบวมน้ำจากยาคุม
อีกทั้ง Drospirenone ยังเป็นโปรเจสตินที่มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดก ที่เป็นผลจากฮอร์โมนได้
ถ้าเทียบกับยาคุมฮอร์โมนรวมส่วนใหญ่ที่มีช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน ก็ถือว่า “ซินโฟเนีย” มีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้นกว่า นั่นคือ มีเพียง 4 วัน ตามจำนวนของเม็ดยาหลอกในแผง
การที่มีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ในทางทฤษฎีเชื่อว่าจะสามารถกดการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่า จึงลดความเสี่ยงที่จะมีไข่ตก ซึ่งอาจทำให้ล้มเหลวในการคุมกำเนิด
นอกจากนี้ การที่ “ซินโฟเนีย” มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมากและมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ยังช่วยให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก
จึงช่วยลดอาการท้องอืด, ปวดศีรษะ และปวดอุ้งเชิงกราน ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลอดฮอร์โมน (Hormone withdrawal – associated symptoms; HWaS) รวมถึงลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy menstrual bleeding; HMB)
ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ชี้ว่า ภาวะน้ำหนักเกิน หรือการมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ
ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ ก็สามารถใช้ “ซินโฟเนีย” ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของประสิทธิภาพนะคะ
แต่ก็ควรระวังว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) อาจเพิ่มขึ้น หากใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมในผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2
ซึ่งยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินเป็นตัวยา Drospirenone อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate
สำหรับยาคุมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน หากมีปริมาณเอสโตรเจนน้อยกว่า ก็มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่า ดังนั้น หากจะใช้ยาคุมสูตร EE/DRSP การเลือกยี่ห้อที่มี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม อย่าง “ซินโฟเนีย” อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่กังวล หรือต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย บางแนวทางก็มีคำแนะนำว่า ผู้ที่มีค่า BMI > 35 kg/m2 ควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
แม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่ก็ยังถือเป็นข้อจำกัดในผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงหรือห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
“ซินโฟเนีย” เป็นยาคุมที่ผลิตในประเทศสเปน และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัทเอ็กเซลทิส ประเทศไทย จำกัด (Exeltis Thailand Co.,Ltd.)
แม้จะเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับ “ยาส” ซึ่งเป็นยี่ห้อที่เป็นยาต้นแบบ แต่ “ซินโฟเนีย” มีราคาย่อมเยากว่า โดยมีราคาประมาณแผงละ 350 – 390 บาท
และยังมีสติกเกอร์ “แถบช่วยจำสำหรับวันเริ่มรับประทานยา” แถมมาในกล่อง เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการตรวจสอบการใช้ประจำวันด้วย เช่นเดียวกับ “ยาส” ด้วยค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
- FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
- RCOG Green-top Guideline No.48: Management of Premenstrual Syndrome. Royal College of Obstetricians and Gynaecologists, February 2017.
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.