หรือ Oilezz จะกลับมา?!?

หรือออยเลซจะกลับมา

ปรับปรุงล่าสุด 6 กรกฎาคม 2023

                เมื่อยาในรุ่นการผลิตสุดท้ายถูกจำหน่ายไปจนหมด และไม่ได้มีการผลิตเพิ่มอีก ช่วงต้นปี 2562 ก็ระงมไปด้วยเสียงบ่นของสาว ๆ ที่ตามหายาคุม “ออยเลซ” (Oilezz)

                ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะขาดตลาดไปนานแค่ไหน หรือเมื่อไรจะกลับมาเสียที จึงได้แต่คอยแล้ว… คอยเล่า… เฝ้าแต่คอยต่อไป

                แต่เมื่อไม่ได้มีการผลิตหรือนำเข้าติดต่อกัน 2 ปี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาดังกล่าวไป1 …เป็นอันสิ้นสุดการรอคอย

 

                ถึงวันนี้ สาว ๆ ที่เคยใช้ “ออยเลซ” อาจพึงพอใจหรือคุ้นชินกับยาคุมยี่ห้อใหม่ที่นำมาใช้แทนไปแล้วนะคะ แต่ก็อาจมีบางคนที่ยังฝังใจและหวังว่าจะได้กลับมาใช้อีกครั้ง

                ล่าสุด มีข่าวคราวความคืบหน้าว่า ได้มีการขึ้นทะเบียนยาคุม “ออยเลซ” อีกแล้วในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาค่ะ

                แต่ไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีการผลิตขึ้นอีกเมื่อไหร่ และจะมีการปรับโฉมใหม่หรือเปล่า ผู้ที่สนใจจึงต้องร้องเพลงรอต่อไปก่อนนะคะ

 

                ระหว่างที่รอ เรามาระลึกความทรงจำถึง “ออยเลซ” รุ่นเดิมกันดีกว่าค่ะ

 

                “ออยเลซ” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 22 เม็ด (ต่างจากยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีแผงละ 21 หรือ 28 เม็ด)

                และทุกเม็ดในแผงก็คือ “เม็ดยาฮอร์โมน” แต่แบ่ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นเม็ดยาสีฟ้าในลำดับที่ 1 – 7 มีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol เม็ดละ 0.040 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสติน Desogestrel อีกเม็ดละ 0.025 มิลลิกรัม

                ส่วนกลุ่มที่สองเป็นเม็ดยาสีขาวในลำดับที่ 8 – 22 มีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol เม็ดละ 0.030 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสติน Desogestrel อีกเม็ดละ 0.125 มิลลิกรัม

                การปรับฮอร์โมนเป็นสองระดับ (Biphasic) ซึ่งต่างจากยาคุมส่วนใหญ่ที่ “เม็ดยาฮอร์โมน” มีตัวยาสำคัญเท่ากัน (Monophasic) ทำให้ผู้ใช้ “ออยเลซ” ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงในช่วงต้นเดือน และลดลงในช่วงหลัง ในขณะที่ฮอร์โมนโปรเจสตินจะมีระดับต่ำก่อน แล้วจึงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับการหลั่งฮอร์โมนตามธรรมชาติ

 

                ปริมาณ Ethinyl estradiol ที่ต่ำกว่า 0.050 มิลลิกรัม ทำให้ “ออยเลซ” ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) ซึ่งผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยกว่ายาคุมประเภทฮอร์โมนสูง (High dose pills)

                แต่ถ้าเทียบกับยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ซึ่งมี Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม “ออยเลซ” ก็อาจพบผลข้างเคียงได้มากกว่านะคะ

 

                ส่วนโปรเจสตินรุ่นที่ 3 อย่าง Desogestrel แม้ว่าจะยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่ก็ลดลงมากจากรุ่นก่อน จึงไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดก และกลายเป็นจุดขายที่นอกเหนือไปจากผลในการคุมกำเนิด

                แต่เนื่องจาก Desogestrel ไม่มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน “ออยเลซ” จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสิวและหน้ามันในระดับที่ไม่รุนแรงนัก

                และในช่วงแรก ผู้ใช้บางรายอาจมีสิวเห่อ แต่ก็จะดีขึ้นเองในภายหลังโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนหรือหยุดใช้ยาคุมค่ะ

 

                ในแผงของ “ออยเลซ” จะระบุ “ตัวเลขลำดับการใช้” โดยให้เริ่มรับประทานจากเม็ดที่ 1 แล้วใช้ต่อวันละเม็ดตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนถึงเม็ดที่ 22

                หมดแผงแล้วก็เว้นว่าง 6 วันก่อนต่อยาคุมแผงใหม่

                และเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบประจำวัน หรือช่วยเตือนความจำว่าควรเริ่มใช้แผงใหม่วันใด ก็ควรเจาะรูหน้า “ตัวย่อของวันในสัปดาห์” เป็นเครื่องหมายแสดงวันที่เริ่มรับประทานยาคุมแผงนี้

                ซึ่งสามารถนำไปใช้ไล่ลำดับต่อได้ เนื่องจากเม็ดแรกของแต่ละแถว (เม็ดที่ 1, 8 และ 15) รวมถึงวันที่จะต้องเริ่มรับประทานแผงถัดไป ก็จะตรงกับวันเดียวกันในสัปดาห์นั่นเองนะคะ

 

                “ออยเลซ” เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคาล่าสุดก่อนที่จะหยุดจำหน่ายไปในปี 2562 อยู่ที่ประมาณแผงละ 380 – 450 บาทค่ะ

 

                ปัจจุบัน “ออยเลซ” กลับมาจำหน่ายอีกแล้วนะคะ โดยมีรูปโฉมเปลี่ยนไปเล็กน้อย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง ยาคุม “ออยเลซ” และ วิธีรับประทานยาคุม “ออยเลซ” ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. รายการทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันที่ถูกยกเลิกเนื่องจากไม่ได้ผลิตหรือนำเข้าฯ 2 ปี ติดต่อกัน (ปี 2561 – 2562)