ยาคุม “ยาส” (Yaz)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

                “ยาส” (Yaz) เป็นยาคุม 28 เม็ดที่มีรูปแบบเป็น 24/4 regimen โดยในแต่ละแผงจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” สีชมพู จำนวน 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” สีขาว จำนวน 4 เม็ด

                “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “ยาส” จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน Drospirenone 3 มิลลิกรัม เท่ากันทั้ง 24 เม็ด

                ส่วน “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ด เป็นเพียงเม็ดแป้ง ไม่มีตัวยาสำคัญใด ๆ

ในแผงของยาส มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด

 

                “ยาส” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม และนี่ถือเป็นจุดเด่นแรก

                ซึ่งข้อดีก็คือ ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยมาก

                แต่ข้อเสียก็คือ อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้นะคะ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                จุดเด่นต่อมาของ “ยาส” ก็คือ ฮอร์โมนโปรเจสตินที่มีชื่อว่า Drospirenone ซึ่งนอกจากจะมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน ช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกจากฮอร์โมนแล้ว ยังมีผลขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงช่วยลดปัญหาน้ำหนักเพิ่มจากการบวมน้ำด้วย

                และยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Drospirenone (หรือ ยาคุมสูตร EE/DRSP) สามารถลดความรุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านมได้ค่ะ

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดส่วนใหญ่ เป็นยาคุม 21/7 Cyclical regimen นั่นคือ มี “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” 7 เม็ด

                แต่ “ยาส” เป็นยาคุม 24/4 Cyclical regimen นั่นคือ มี “เม็ดยาฮอร์โมน” 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ด

ยาสเป็นยาคุม 24/4 Cyclical regimen

                เมื่อมี “เม็ดยาหลอก” น้อยกว่า ก็หมายถึง มี “ช่วงปลอดฮอร์โมน” สั้นลง ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ถือเป็นจุดเด่นอีกประการของ “ยาส”

 

                เนื่องจากในช่วงปลอดฮอร์โมนแบบดั้งเดิมที่มี 7 วัน ยังอาจพบการเจริญเติบโตของฟองไข่ได้ โดยเฉพาะถ้าลืมใช้เม็ดฮอร์โมนในช่วงท้าย ๆ ของแผงเดิม หรือถ้าต่อแผงใหม่ล่าช้า จนทำให้ช่วงปลอดฮอร์โมนยาวนานขึ้น ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะมีไข่ตก

                ในทางทฤษฎี การที่ “ช่วงปลอดฮอร์โมน” สั้นลง สามารถกดการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่า จึงลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

 

                อีกทั้ง การที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำมากและมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น จะทำให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก

                จึงช่วยลดอาการขาดฮอร์โมน (Hormone withdrawal – associated symptoms; HWaS) เช่น ท้องอืด, ปวดศีรษะ และปวดอุ้งเชิงกราน ที่อาจเกิดขึ้นได้

                และยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy menstrual bleeding; HMB) หรือเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS)

 

                ในอดีต เคยมีความกังวลว่า การใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป อาจไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่เท่าที่ควร และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                แต่จนถึงปัจจุบัน หลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ หากต้องการ ก็สามารถใช้ “ยาส” ได้ โดยควรระมัดระวังไม่ให้ลืมรับประทานนะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

                แต่ถ้าไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย ผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2 ก็ยังสามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมได้

                หรืออาจพิจารณาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า ถ้ามีค่า BMI > 35 kg/m2 ค่ะ

 

                หากเปรียบเทียบระหว่างโปรเจสตินด้วยกัน ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ Drospirenone อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                แต่ถ้าพิจารณาจากปริมาณของเอสโตรเจน ยาคุมที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า ก็มีแนวโน้มที่ความเสี่ยงจะต่ำกว่า

                “ยาส” ซึ่งมีปริมาณ Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับผู้ที่จะใช้ยาคุมสูตร EE/DRSP แต่มีความกังวล หรือต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                ถึงแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                อีกทั้ง ยังควรต้องระวังว่า ถ้าใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำมาก ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ

                 

                นอกจากจุดเด่นในด้านคุณสมบัติของยาแล้ว “ยาส” ยังมีจุดเด่นในด้านของบรรจุภัณฑ์และการใช้งาน โดยมีสติกเกอร์ “แถบช่วยจำสำหรับวันเริ่มรับประทานยา” แถมมาในกล่อง จึงสามารถตรวจสอบการใช้ประจำวันได้ง่ายค่ะ

มีแถบช่วยจำแถมมาในกล่องยาคุมยาส

 

                “ยาส” เป็นยาคุมที่ผลิตในประเทศเยอรมนี และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด (Bayer Thai Co.,Ltd.) มีราคาประมาณ 430 – 470 บาท

ยาคุมยาส

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. RCOG Green-top Guideline No.48: Management of Premenstrual Syndrome. Royal College of Obstetricians and Gynaecologists, February 2017.
  4. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  5. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.