ยาคุม 21 เม็ดยังไม่หมดแผงแต่ประจำเดือนมา

ยาคุม 21 เม็ดยังไม่หมดแผงแต่ประจำเดือนมา

                เริ่มใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดแผงแรกในวันที่ประจำเดือนหมด วันนี้มีประจำเดือนมา ทั้งที่ยาคุมในแผงยังเหลืออยู่ 3 เม็ด ควรทำอย่างไรดี ทานต่อให้หมดแผง, ทิ้งแผงเดิมแล้วเริ่มแผงใหม่ หรือหยุดใช้ยาคุมไปก่อน

 

                วิธีใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด ก็คือ ให้รับประทานวันละเม็ด ติดต่อกันทุกวันจนหมดแผง จากนั้นก็เว้นว่าง 7 วัน แล้วจึงต่อยาคุมแผงใหม่ เมื่อทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ผู้ใช้ก็จะได้รับฮอร์โมนติดต่อกัน 21 วัน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน

                ในช่วงปลอดฮอร์โมนนี่เอง ที่เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งไม่ได้รับฮอร์โมนไปหล่อเลี้ยงต่อ ก็จะเริ่มหลุดลอก และมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดออกคล้ายประจำเดือนที่มาตามรอบปกติ โดยเกิดขึ้นหลังจากที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดหมดไปแล้ว 2 – 3 วัน หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อยค่ะ

 

                อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของฮอร์โมน ก็อาจทำให้มีเลือดออกทั้งที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดยังไม่หมดแผงได้นะคะ แต่เลือดที่ออกในลักษณะนี้ มักจะมาแบบกะปริบกะปรอย และหายเองได้ในไม่กี่วัน

                ซึ่งอาจพบในระหว่างที่ใช้ยาคุมแผงแรก ๆ (1 ใน 5 รายของผู้ที่เริ่มใช้ยาคุมฮอร์โมนรวม มีเลือดออกผิดปกติในช่วง 3 เดือนแรก), การใช้ยาคุมฮอร์โมนต่ำมาก, การรับประทานไม่ตรงเวลาหรือลืมรับประทาน รวมถึงในกรณีที่เกิดปัญหาที่ทำให้ยาคุมถูกดูดซึมน้อยลงหรือขับออกเร็วขึ้น เช่น การอาเจียน, การถ่ายเหลว และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง

               

                จากกรณีตัวอย่าง ผู้ถามซึ่งเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกในวันที่ประจำเดือนหมด ไม่ว่าจะทันภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนหรือไม่ แต่เมื่อใช้ต่อเนื่องกันครบ 7 วันแล้ว ก็ถือว่ามีผลป้องกันจากยาคุมแผงนี้แล้วนะคะ

                หากที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาดังต่อไปนี้ติดต่อกันตั้งแต่ 2 – 3 วันขึ้นไป ได้แก่ ลืมรับประทาน, อาเจียนภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน, อาเจียนและ/หรือถ่ายเหลวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อีกทั้ง ไม่ได้รับประทานยาบางตัวในกลุ่มยากันชัก, ยารักษาวัณโรค, ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต ก็ถือว่ายังมีผลป้องกันจากยาคุมอยู่เหมือนเดิม

 

                ส่วนเลือดที่ออกมาหลังรับประทานไปแล้ว 18 เม็ด หากไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ, คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด, ปวดท้องรุนแรง, แสบขัดเวลาปัสสาวะ, เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็ยังไม่ต้องกังวลค่ะ

                ถ้าเป็นเลือดที่ออกแบบกะปริบกะปรอย หลังรับประทานยาคุมต่อให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็จะค่อย ๆ หายไปเอง หมดแผงแล้วก็เว้นว่าง 7 วันเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา จากนั้นจึงค่อยเริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่าง

                แต่ถ้ามีเลือดออกมากและมาต่อเนื่องกันหลายวันคล้ายประจำเดือน หลังรับประทานยาคุมแผงแรกหมดแล้ว ก็ให้ต่อแผงที่สองในวันถัดมาได้เลยนะคะ หลังใช้แผงที่สองหมดแล้ว จึงค่อยเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สาม ซึ่งประจำเดือนรอบถัดไปก็ควรจะมาในช่วงที่เว้นว่างตามปกตินั่นเอง

 

            อย่างไรก็ตาม หากผู้ถามเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรก ไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็ต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ดติดต่อกันครบ 7 วันก่อนนะคะ     

            หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก่อนที่จะมีผลคุมกำเนิดจากยา ก็อาจตั้งครรภ์ได้ ซึ่งหากมีการตั้งครรภ์แล้ว แม้จะรับประทานยาคุมต่อมาเรื่อย ๆ แต่การตั้งครรภ์ก็จะยังคงอยู่ค่ะ

            ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ถามเริ่มยาคุมแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันก่อนที่จะใช้ยาคุมแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วัน ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์ ในอีก 2 – 4 สัปดาห์ถัดมาด้วยนะคะ

 

                แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือเลือดออกมากและนานเกินไป หรือใช้ยาคุมมาหลายเดือนแล้วแต่ยังคงมีเลือดออกกลางแผงอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ แนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม และรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. January 2019 (Amended July 2023).
  2. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Clinical Guidance: Problematic Bleeding with Hormonal Contraception. 2015.
  3. World Health Organization (WHO). Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. 2016.
  4. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. 2016.