เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ยาคุม “เมอซิลอน” มีอยู่ 2 รูปแบบ นั่นก็คือ “เมอซิลอน” (Mercilon) ที่เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด ซึ่งกล่าวถึงไปแล้วในบทความก่อน และ “เมอซิลอน 28” (Mercilon 28) ที่เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ซึ่งจะนำมากล่าวถึงในบทความนี้
กล่องยาของทั้ง 2 รูปแบบมีสีชมพูเหมือนกัน จึงควรตรวจสอบให้มั่นใจก่อนซื้อว่าเป็นรูปแบบที่ต้องการหรือเปล่า เพราะแม้จะมีตัวยาสำคัญเหมือนกัน แต่วิธีการใช้ที่แตกต่างกันก็อาจสร้างความสับสนได้นะคะ
เม็ดยาสีขาวขนาดใหญ่ที่อยู่ในลำดับที่ 1 – 21 ของแผง “เมอซิลอน 28” เรียกว่า “เม็ดยาฮอร์โมน” แต่ละเม็ดมีตัวยาฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน Desogestrel 0.15 มิลลิกรัม เท่ากันทั้ง 21 เม็ด
ส่วนเม็ดยาสีขาวขนาดเล็กจำนวน 7 เม็ดที่อยู่ในลำดับที่ 22 – 28 ของแผง เรียกว่า “เม็ดยาหลอก” เป็นเพียงเม็ดแป้ง ไม่มีตัวยาฮอร์โมนใด ๆ ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถต่อยาคุมแผงใหม่ได้ตรงตามกำหนดนั่นเอง
พิจารณาจากปริมาณของ Ethinyl estradiol ใน “เม็ดยาฮอร์โมน” ที่มีไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม จึงจัดว่า “เมอซิลอน 28” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ซึ่งจุดเด่นของยาคุมประเภทนี้ก็คือ ผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยมากค่ะ
แต่ก็อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ
ส่วนโปรเจสตินรุ่นที่ 3 อย่าง Desogestrel แม้ว่าจะยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่ก็ลดลงมากจากรุ่นก่อน ผลข้างเคียงเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดก จึงพบได้น้อย
ในอดีต เคยมีความกังวลว่า การใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป อาจไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่เท่าที่ควร และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์
แต่หลักฐานส่วนใหญ่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ถ้ารับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ
ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ หากต้องการ ก็สามารถใช้ “เมอซิลอน 28” ได้นะคะ
แต่ก็ควรระวังว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) อาจเพิ่มขึ้น หากใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมในผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2
ซึ่งยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินเป็นตัวยา Desogestrel อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate
แต่ถ้าเปรียบเทียบยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน สูตรที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่าค่ะ
ดังนั้น “เมอซิลอน 28” ซึ่งมี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Desogestrel (หรือ ยาคุมสูตร EE/DSG) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย บางแนวทางก็มีคำแนะนำว่า ผู้ที่มีค่า BMI > 35 kg/m2 ควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
เพราะแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
“เมอซิลอน 28” เป็นยาคุมที่ผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัทออร์กานอน ประเทศไทย จำกัด (Organon Thailand Ltd.) ราคา 175 – 195 บาท
อย่างไรก็ตาม ยาคุมรุ่นเดิมที่นำเข้าโดย บริษัท เอ็มเอสดี ประเทศไทย จำกัด (MSD Thailand Ltd.) และมีรูปแบบการใช้ไม่แตกต่างกัน แต่ราคาถูกกว่าประมาณ 10 บาท อาจมีตกค้างอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งหากว่ายังไม่หมดอายุ ก็สามารถใช้ได้เช่นกันนะคะ
เมอซิลอน 28 (รูปแบบเดิม) |
เมอซิลอน 28 (โฉมใหม่) |
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
- FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.