กินยาคุม Yasmin แล้วมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ปกติไหม

กินยาคุม Yasmin แล้วมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ปกติไหม

                เริ่มกินยาคุมยาสมินในวันแรกที่มีประจำเดือน ประจำเดือนมา 7 วัน พอเข้าวันที่ 8 กลับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย แบบนี้ปกติหรือไม่ เป็นผลข้างเคียงหรือเปล่า เพราะเพิ่งกินยาคุมครั้งแรก

 

                มีมากถึง 20% ของผู้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ที่มีเลือดออกผิดปกติในช่วง 3 เดือนแรก จึงไม่แปลกหากจะพบปัญหาดังกล่าวในระหว่างที่รับประทาน “ยาสมิน” (Yasmin) แผงแรก ๆ และโดยเฉพาะในเดือนแรกที่เริ่มใช้ค่ะ

                ซึ่งเลือดกะปริบกะปรอยที่เป็นผลข้างเคียงจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มักจะลดลงและหายไปเองในแผงที่ 3 – 4 โดยไม่จำเป็นจะต้องหยุดใช้หรือรับการรักษาใด ๆ เพิ่มเติม

 

                แต่ในกรณีของผู้ถาม อาจเป็นประจำเดือนในวันท้าย ๆ ที่มาน้อยลงก่อนจะหยุดไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แม้ไม่ได้รับประทานยาคุมเลยนะคะ

                ไม่ว่าเลือดที่ออกกะปริบกะปรอยนั้น จะเป็นประจำเดือนในวันท้าย ๆ หรือจะเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมแผงแรก หากไม่ได้มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ, คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด, ปวดท้องรุนแรง, แสบขัดเวลาปัสสาวะ, เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็ยังไม่ต้องกังวลค่ะ

                และสามารถใช้ยาคุมต่อไปได้ โดยควรรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ ทั้งเพื่อลดปัญหาเลือดออกผิดปกติจากระดับฮอร์โมนที่แปรปรวน และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์

 

                อย่างไรก็ตาม หากผู้ถามมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือใช้ยาคุมไป 3 – 4 แผงแล้วแต่ยังคงมีเลือดออกกะปริบกะปรอยโดยไม่ทราบสาเหตุ แนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม และรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ

 

                โดยทั่วไป เมื่อใช้ยาสมินครบ 21 เม็ดแล้ว ก็จะเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ ซึ่งในช่วงที่เว้นว่างก็จะมีเลือดออกมาก คล้ายกับประจำเดือนที่มาตามรอบปกติของผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด โดยมักจะเกิดขึ้นหลังหยุดยาไปแล้ว 2 – 3 วัน หรืออาจคลาดเคลื่อนจากนั้นเล็กน้อย

                แต่ถ้ามีเลือดออกมากในสัปดาห์สุดท้ายของแผง โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย คล้ายกับประจำเดือนที่มาก่อนกำหนด เมื่อรับประทานแผงแรกหมดแล้ว ก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย หลังจากใช้แผงที่สองจนหมด จึงค่อยเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สามตามปกติ

 

                การอาเจียน และ/หรือ การถ่ายเหลว อาจทำให้ยาคุมถูกดูดซึมน้อยลงหรือขับออกเร็วขึ้น ซึ่งความแปรปรวนของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติ หรือประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงได้เช่นกัน จึงควรแก้ไขให้เหมาะสม (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “อาเจียนหลังกินยาคุมรายเดือน” และ “ถ่ายเหลวหลังกินยาคุม”)

 

                นอกจากนี้ ยาบางตัวในกลุ่มยากันชัก, ยารักษาวัณโรค, ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต เมื่อใช้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลงได้

                ในกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) และ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) แนะนำให้เลือกยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol (เอทธินิล เอสตราไดออล) ในเม็ดยา อย่างน้อย 0.03 มิลลิกรัม

                ส่วน คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) แนะนำให้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม โดยให้ได้ปริมาณ เอทธินิล เอสตราไดออล เท่ากับ 0.05 มิลลิกรัมค่ะ (ยกเว้นผู้ใช้ยา Rifampicin หรือยา Rifabutin ซึ่งแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นแทน)

 

                และเนื่องจากยาสมินมีปริมาณ เอทธินิล เอสตราไดออล อยู่เม็ดละ 0.03 มิลลิกรัม ดังนั้น  หากอ้างอิงตามแนวทางของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา และ องค์การอนามัยโลก จึงสามารถใช้ยาสมินได้

                แต่ถ้าอ้างอิงตามแนวทางของ คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร อาจต้องใช้ยาสมิน ร่วมกับยาคุมที่มี เอทธินิล เอสตราไดออล อยู่เม็ดละ 0.02 มิลลิกรัม ซึ่งก็ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และยังไม่อาจรับรองได้อยู่ดีว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

                หากไม่สามารถหยุดใช้ยาหรือสมุนไพรดังกล่าวได้ การใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่จะไม่เกิดอันตรกิริยาระหว่างกัน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่านะคะ  โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกันแล้ว กลับพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยบ่อยครั้ง ทั้งที่รับประทานยาคุมตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Clinical Guidance: Problematic Bleeding with Hormonal Contraception. 2015.
  2. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. January 2019 (Amended July 2023).
  3. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Clinical Guidance: Drug Interactions with Hormonal Contraception. May 2022.
  4. World Health Organization (WHO). Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. 2015.
  5. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. 2016.