วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มักถูกมองว่าเป็นทางลัดสู่การมีสุขภาพดี และเนื่องจากหาซื้อได้ง่าย จึงอาจมีการใช้ที่เกินความจำเป็น หรือใช้อย่างไม่เหมาะสม จนในบางครั้งก็เป็นอันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการ ‘บำรุงเลือด’ ซึ่งอาจไม่ทราบว่าการเสริมธาตุเหล็กมากเกินไปก็ไม่ดีนะคะ
แล้วควรใช้อย่างไรล่ะ จึงจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่การทำลาย?!?
- ถามตัวเองก่อนว่าเราจำเป็นที่จะต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมจริงหรือ
ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยค่ะ ซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes-Thai RDI) คือ 15 มิลลิกรัม โดยทั่วไปจึงไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก เพราะได้รับเพียงพอแล้วจากอาหารและระบบการหมุนเวียนธาตุเหล็กมาใช้ใหม่ในร่างกายโดยการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ
แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงที่มีประจำเดือน, เด็กในวัยเจริญเติบโต, ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหรือโรคแผลในทางเดินอาหารที่เสียเลือดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักกีฬาที่ฝึกหนัก ก็ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น หรือได้รับยาเสริมธาตุเหล็กบ้างตามจำเป็น แต่รวมแล้วไม่ควรได้รับธาตุเหล็กเกินวันละ 40 – 45 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดที่รับได้ในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดจาง แพทย์อาจพิจารณาให้ธาตุเหล็กเสริมในขนาดที่สูงกว่าขนาดที่กล่าวไปข้างต้นนะคะ
ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ การได้รับจากอาหารอาจไม่เพียงพอ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กวันละ 30 – 60 มิลลิกรัมค่ะ
- จะได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งใดบ้าง และมากน้อยเพียงไร
ธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหาร พบได้ทั้งในรูปของ heme iron และ non-heme iron โดยที่อาหารประเภทเนื้อสัตว์จะพบทั้ง 2 รูปแบบ ในขณะที่อาหารประเภทพืชจะพบเฉพาะ non-heme iron เท่านั้น
และเนื่องจาก heme iron ถูกดูดซึมได้ดีกว่า non-heme iron ดังนั้น อาหารจากเนื้อสัตว์จึงเป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่ถูกดูดซึมได้ดีกว่าอาหารจากพืช
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีธาตุเหล็กสูง
ผลิตภัณฑ์ |
ปริมาณธาตุเหล็ก (มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม) |
ปอดหมู |
47.6 |
กุ้งฝอย |
28.0 |
เลือดหมู |
25.9 |
หอยขม |
25.2 |
หอยแมลงภู่ |
15.6 |
ตับหมู |
10.5 |
หอยกะพง |
9.8 |
ปลาดุก |
8.1 |
น่อง, เนื้อ และหนังไก่บ้าน |
7.8 |
หอยแครง |
6.4 |
ปลาช่อน |
5.8 |
ไข่แมงมัน |
5.3 |
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพืชและเห็ดที่มีธาตุเหล็กสูง
ผลิตภัณฑ์ |
ปริมาณธาตุเหล็ก (มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม) |
ผักกูด |
36.3 |
ใบแมงลัก |
17.2 |
ถั่วดำ (ดิบ) |
16.5 |
ใบกะเพราแดง |
15.1 |
ถั่วลิสง (ดิบ) |
13.8 |
ยอดอ่อนกระถิน |
9.2 |
งาดำ (ดิบ) |
8.8 |
ดอกโสน |
8.2 |
ลูกเดือย (ดิบ) |
8.0 |
ใบชะพลู |
7.6 |
งาขาว (ดิบ) |
7.4 |
เห็ดหูหนู |
6.1 |
หากปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับจากอาหาร ไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็อาจพิจารณาการรับประทานเสริมในรูปแบบของยาได้ โดยมีหลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ
ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาเม็ดสูตรผสมธาตุเหล็กกับวิตามิน/แร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีขนาดบรรจุขวดละ 30 – 100 เม็ดนะคะ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและวิตามิน
ผลิตภัณฑ์ |
ปริมาณธาตุเหล็ก (มิลลิกรัม ต่อ 1 เม็ด) |
FBC |
66 |
FERRO – VIT |
66 |
HAEMOVIT |
27 |
KRESS – B – C |
66 |
NATARAL – EZ |
50 |
OBIMIN – AZ |
66 |
OBIMIN – AZ PLUS |
45 |
STRESSTAB + IRON |
27 |
TRIFERDINE |
61 |
- จะเกิดผลเสียอย่างไร ถ้าได้รับยาเสริมธาตุเหล็กมากเกินความจำเป็น
หากได้รับยาเสริมธาตุเหล็กมากเกินความจำเป็น ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น
โดยผลข้างเคียงเฉพาะที่จากการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดเป็นแผลและมีเลือดออกหรือทะลุ ทำให้ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด
และการดูดซึมที่จำกัด ทำให้มีธาตุเหล็กตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณยาเสริมธาตุเหล็กที่ให้ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค จึงอาจทำให้เกิดการอักเสบและการขับถ่ายผิดปกติได้
ดังนั้น นอกจากไม่ควรรับประทานมากเกินความจำเป็นแล้ว ในภาวะที่มีการอักเสบ/ติดเชื้อ ก็ควรลดปริมาณการใช้เพราะร่างกายจะมีการดูดซึมธาตุเหล็กน้อยลงค่ะ
ส่วนผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากร่างกายมีกลไกควบคุมธาตุเหล็กไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขนาดสูงมากจนทำลายผนังลำไส้รุนแรงและสูญเสียการทำงานตามปกติ ธาตุเหล็กก็จะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้มากจนอาจเกิดพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ, หัวใจ และสมอง
- หากจำเป็นต้องใช้ ควรรับประทานอย่างไรเพื่อให้ธาตุเหล็กดูดซึมได้ดีที่สุด
ควรรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขณะที่ท้องว่าง เนื่องจากอาหาร, นม, ชา, หรือกาแฟ อาจลดการดูดซึมยา อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาให้รับประทานพร้อมอาหารได้ หรือเปลี่ยนไปใช้รูปแบบที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า หากเกิดอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง หรือแสบร้อนยอดอก
แต่สามารถรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กพร้อมวิตามินซี หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม เพราะในสภาวะที่เป็นกรดเล็กน้อย จะเปลี่ยนธาตุเหล็กให้อยู่ในรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีกว่า
สรุป
การรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กเพื่อ ‘ป้องกันการขาดธาตุเหล็ก’ ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป
และแม้แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะขาดธาตุเหล็ก เช่น หญิงที่มีประจำเดือน, เด็กในวัยเจริญเติบโต, ผู้ที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ, ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหรือโรคแผลในทางเดินอาหารที่เสียเลือดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักกีฬาที่ฝึกหนัก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเพิ่มขึ้นก็น่าจะทำได้รับธาตุเหล็กเพียงพอแล้วนะคะ
หรือหากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้เพียงพอ อาจพิจารณาการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กในขนาดต่ำเท่าที่จำเป็น ซึ่งยังคงให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการขาดธาตุเหล็ก แต่มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าการใช้ในขนาดสูงแบบที่นิยมกันแต่เดิม
โดยแนะนำให้รับประทานในตอนท้องว่างพร้อมวิตามินซีเพื่อให้ธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดี แต่ควรลดขนาดการใช้ในช่วงที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ เพื่อลดปริมาณธาตุเหล็กที่ตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารจากการดูดซึมที่ลดลงค่ะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
- https://www.tci-thaijo.org/index.php/fdajournal/article/download/176156/125751/
- http://www.fda.moph.go.th/sites/food/Permission/4.4.8-DRI.pdf
- https://www.efsa.europa.eu/sites/default/files/efsa_rep/blobserver_assets/ndatolerableuil.pdf
- https://www.who.int/elena/titles/daily_iron_pregnancy/en/
- https://www.eatsmartly.net/Files/Name2/CONTENT512241738340.pdf