ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมรายเดือน, ยาคุมฉุกเฉิน หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ อยู่ จะสามารถบริจาคเลือดได้ไหม จำเป็นจะต้องเว้นช่วงห่างจากการใช้ครั้งล่าสุดด้วยหรือไม่ และนานเท่าไร
อ้างอิงจากคำแนะนำของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย1,2,3 ยาคุมกำเนิดทุกประเภท และทุกรูปแบบ ไม่ถือเป็นข้อห้ามในการบริจาคเลือดค่ะ
ดังนั้น ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมรายเดือน ทั้งที่เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม และยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ อยู่ เช่น ฉีดยาคุมกำเนิด, ฝังยาคุมกำเนิด, ใส่ห่วงอนามัย หรือแม้กระทั่งมีการรับประทานยาคุมฉุกเฉินมาก่อน ก็สามารถบริจาคเลือดได้หากผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์มาตรฐาน และไม่มีอาการแทรกซ้อนจากการฉีดหรือฝังยาคุม
โดยไม่ต้องหยุดวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ก่อนจะบริจาคเลือด และไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องเว้นช่วงห่างจากการใช้ครั้งล่าสุดไปนานเท่าใดด้วยนะคะ
ยกเว้นในกรณีที่ฝังยาคุมกำเนิด ที่ควรรอให้แผลหายดีก่อนจึงค่อยบริจาคเลือดค่ะ3
และสำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมรายเดือนที่มีทั้งช่วงรับประทานเม็ดยาฮอร์โมน สลับด้วยการใช้เม็ดยาหลอกหรือต้องเว้นว่างเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมน สามารถบริจาคเลือดในเวลาใดก็ได้ตามที่สะดวก
เนื่องจากยาคุมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการให้หรือรับเลือด จึงสามารถบริจาคได้แม้จะอยู่ในช่วงที่รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนอยู่
และในช่วงปลอดฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อที่ให้รับประทานเม็ดยาหลอก หรือยี่ห้อที่ให้เว้นว่างก่อนต่อแผงใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นช่วงที่มีประจำเดือนมา ก็สามารถบริจาคเลือดได้เช่นกันนะคะ
เพราะสตรีในช่วงที่มีประจำเดือน ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการบริจาคโลหิต ถ้าในขณะนั้นมีสุขภาพแข็งแรง เลือดประจำเดือนไม่ได้มามากผิดปกติ และไม่ได้อ่อนเพลียใด ๆ ค่ะ1
นอกจากนี้ ยาบำรุงเลือด หรือยาเสริมธาตุเหล็ก Ferrous fumarate 200 มิลลิกรัม ที่ได้จากมาหลังจากการบริจาคเลือด ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย แนะนำให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ก่อนนอน ติดต่อ 50 วันนั้น ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด
ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาคุมรายเดือนในเวลาก่อนนอนอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันได้นะคะ
อย่างไรก็ตาม ยาบำรุงเลือดอาจทำให้อาเจียนหรือถ่ายเหลว จนรบกวนการดูดซึมยาเม็ดคุมกำเนิด และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
ในกรณีที่รับประทานพร้อมกันแล้วอาเจียน สามารถอ่านแนวทางแก้ไขได้จากบทความเรื่อง “อาเจียนหลังกินยาคุมรายเดือน” หรือ “อาเจียนหลังกินยาคุมฉุกเฉิน”
และถ้ากังวล หรือต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว อาจเปลี่ยนไปใช้ยาบำรุงเลือดในเวลาอื่นแทน เช่น ก่อนอาหาร ½ – 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เนื่องจากยาดูดซึมได้ดีในขณะที่ท้องว่าง
แต่จะรับประทานยาบำรุงเลือดพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที ก็ได้เช่นกันค่ะ โดยเฉพาะถ้าทนผลข้างเคียงเรื่องคลื่นไส้อาเจียน และไม่สบายท้อง ที่เกิดขึ้นหลังรับประทานไม่ได้
ส่วนในกรณีที่ถ่ายเหลวจากการใช้ยาบำรุงเลือด แนะนำให้อ่านแนวทางแก้ไขจากบทความเรื่อง “ถ่ายเหลวหลังกินยาคุม” นะคะ
เอกสารอ้างอิง
- คู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2560
- เกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตในกรณีที่มีการใช้ยา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ฉบับปรับปรุง 1 กรกฎาคม 2563
- คู่มือการรับบริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564