ยาคุม “เมลลิแอน” (Meliane)

ยาคุมเมลลิแอน

                ยาคุมยี่ห้อนี้มีอยู่ 2 รูปแบบค่ะ ได้แก่ “เมลลิแอน” (Meliane) ที่เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด ซึ่งจะกล่าวถึงในครั้งนี้ และ “เมลลิแอน อีดี” (Meliane ED) ที่เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ซึ่งจะนำมากล่าวในครั้งต่อไป

                เม็ดยาทั้ง 21 เม็ดในแผงของ “เมลลิแอน” จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน Gestodene 0.075 มิลลิกรัม เท่ากันทุก ๆ เม็ด

 

                และเนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม “เมลลิแอน” จึงจัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ซึ่งมีจุดเด่นก็คือ ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยมาก

                แต่การใช้ยาคุมที่มีเอสโตรเจนต่ำมาก ก็อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                ส่วนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนโปรเจสติน เช่น สิว, หน้ามัน หรือขนดก ก็พบได้น้อยเช่นกัน เพราะแม้ว่า Gestodene จะยังมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่ก็ใช้ในปริมาณที่น้อยมากนั่นเอง 

                “เมลลิแอน” ไม่จัดเป็นยาคุมที่มีผลต้านการบวมน้ำ เพราะแม้ว่า Gestodene จะมีผล Antimineralocorticoid เมื่อศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ในมนุษย์ที่ใช้ยาคุมสูตรนี้กลับพบผลดังกล่าวน้อยมากหรือไม่มีเลย

 

                ในอดีต เคยมีความกังวลว่า การใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป อาจไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่เท่าที่ควร และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                แต่จนถึงปัจจุบัน หลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ หากต้องการ ก็สามารถใช้ “เมลลิแอน” ได้นะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

                แม้หลาย ๆ แนวทางจะแนะนำว่า ถ้าไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย ผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2 ก็ยังสามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมได้ แต่ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

                ซึ่งบางแนวทางก็แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า ถ้ามีค่า BMI > 35 kg/m2

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ Gestodene อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                แต่ถ้าเปรียบเทียบยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน สูตรที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่าค่ะ

                ดังนั้น “เมลลิแอน” ซึ่งมี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Gestodene (หรือ ยาคุมสูตร EE/GSD) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                ถึงแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                อีกทั้ง ยังควรต้องระวังว่า ถ้าใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำมาก ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

 

                “เมลลิแอน” ที่เคยมีจำหน่ายในประเทศไทย เป็นยาคุมที่ผลิตในประเทศฝรั่งเศส และนำเข้ามาจำหน่ายโดย บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด (Bayer Thai Co.,Ltd.) มีราคาประมาณแผงละ 140 – 170 บาท

                จากปัญหา “เมลลิแอน” ขาดตลาด และยังไม่ทราบว่าจะกลับมาจำหน่ายอีกเมื่อไหร่ ผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมสูตรนี้ อาจพิจารณายี่ห้ออื่น ๆ ที่ใช้ทดแทนได้ไปก่อนนะคะ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “หาซื้อ Meliane ไม่ได้… จะใช้อะไรแทน?!?”)

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.

 

 

…(((ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2566)))…

 

 

อ่านเพิ่มเติม วิธีรับประทานยาคุมเมลลิแอน