กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว สามารถกินยาคุมปกติต่อเลยได้ไหม

กินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว สามารถกินยาคุมปกติต่อเลยได้ไหม

                หลังกินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว หากต้องการใช้ยาคุมปกติต่อ จะสามารถเริ่มได้เลย หรือต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน การใช้ยาคุมทั้งสองร่วมกันมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

 

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ 2 เม็ด เช่น โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) และ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox) หรือรูปแบบ 1 เม็ด เช่น เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte), แทนซี วัน (Tansy one), มาดอนน่า วัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) และ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte) เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลค่ะ

                ขนาดยาใน 1 แผงของทุก ๆ ยี่ห้อก็คือ 1.5 มิลลิกรัม ซึ่งสามารถใช้ให้หมดในครั้งเดียว หรือแบ่งเป็น 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมงก็ได้ ขึ้นกับความสะดวกของผู้ใช้ และรูปแบบยาคุมฉุกเฉินที่มีอยู่ โดยรับประทานทันทีที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

 

                การรับประทานฮอร์โมนในขนาดที่สูงมาก ก็เพื่อไปชะลอการตกไข่ให้พ้นจากช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

                แต่ผลรบกวนการตกไข่อาจเกิดขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ดังนั้น แม้จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่หากเวลาที่ใช้ ใกล้กันมากกับเวลาที่ไข่จะตก ก็อาจชะลอการตกไข่ไม่ทัน และถ้ามีไข่ตกมาในระหว่างนั้น การขัดขวางไม่ให้อสุจิผสมกับไข่ก็มีโอกาสล้มเหลวได้มาก

                เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ไม่สูงนักและไม่แน่นอน จึงแนะนำให้ใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกตินะคะ

 

                สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมอยู่เดิม แต่เกิดความผิดพลาดจนทำให้ไม่มีผลป้องกันได้ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ลืมรับประทานยาคุมรายเดือนติดต่อกันหลายวัน แล้วไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในช่วงที่ไม่มีผลคุมกำเนิดแล้ว ก็จำเป็นจะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

                และหลังจากที่ใช้ยาคุมฉุกเฉิน ก็สามารถรับประทานยาคุมรายเดือนต่อได้ตามปกติ แต่จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปจนกว่าจะมีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือนขึ้นมาอีกครั้ง

 

                ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้ยาคุมเลย หรือหยุดใช้ไปนานแล้ว หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือเกิดปัญหาถุงยางฉีกขาด จึงลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ด้วยการรับประทานยาคุมฉุกเฉินจนครบขนาดภายในเวลาที่แนะนำ

                หากต้องการ ก็สามารถเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้เลย แต่จะต้องรับประทานติดต่อกันไปอีกระยะหนึ่ง (อาจเป็น 2 วัน, 7 วัน หรือ 9 วัน ขึ้นกับยาคุมที่ใช้) จึงจะเริ่มมีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน ดังนั้น ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไปก่อน

 

                แม้ว่าอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากการใช้ยาคุมทั้งสองชนิดร่วมกัน เมื่อเทียบกับการใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดหรือเวียนศีรษะ, เจ็บคัดตึงเต้านม หรือมีเลือดออกะปริบกะปรอย แต่ผลข้างเคียงเหล่านั้นก็มักจะไม่รุนแรงและหายเองได้ค่ะ

 

                อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ต่อเนื่องจากยาคุมฉุกเฉิน แต่ยาคุมรายเดือนก็ให้ผลป้องกันไปข้างหน้า โดยไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันก่อนหน้านี้ และไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

                นั่นหมายถึงว่า ถ้ายาคุมฉุกเฉินล้มเหลวในการป้องกัน การตั้งครรภ์ก็จะดำเนินต่อไปแม้ว่าจะมีการรับประทานยาคุมรายเดือนแล้วก็ตามนะคะ

 

                ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการให้ยาคุมรายเดือนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันของยาคุมฉุกเฉิน หรือช่วยยุติการตั้งครรภ์หากว่ายาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันได้ โดยไม่ต้องการที่จะใช้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เช่น ถ้ามั่นใจแล้วว่ายาคุมฉุกเฉินป้องกันความเสี่ยงครั้งนั้นได้สำเร็จ ก็จะหยุดใช้ยาคุมรายเดือน

                รวมถึงผู้ที่คาดว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์อีกในเร็ว ๆ นี้ หรือถ้ามี ก็เลือกวิธีป้องกันด้วยถุงยางอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยา

                ไม่แนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมรายเดือนหลังใช้ยาคุมฉุกเฉินค่ะ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ตามที่ต้องการ และอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาคุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

 

                แต่สำหรับผู้ที่หวังผลคุมกำเนิดไปข้างหน้าด้วยยาคุมรายเดือน โดยคาดว่าอาจมีเพศสัมพันธ์อีกเรื่อย ๆ และยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร

                หากไม่ต้องการรอให้ประจำเดือนมาก่อนจึงค่อยเริ่มใช้ยาคุมแผงแรก ก็สามารถรับประทานตามหลังยาคุมฉุกเฉินได้เลยค่ะ แต่ให้งดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัย ในระหว่างที่ยังไม่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือนไปก่อน

                เพราะแม้ว่าจะไม่ให้ผลป้องกันทันที แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อีกเรื่อย ๆ ไม่ได้ การเริ่มยาคุมรายเดือนเร็วก็น่าจะได้ผลป้องกันที่เร็วกว่ารอให้ประจำเดือนมาก่อน

                อีกทั้ง ช่วยลดความเสี่ยงที่บางคนอาจเลือกวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า เช่น การหลั่งนอก, การนับวันปลอดภัย หรือการรับประทานยาคุมฉุกเฉินแทนวิธีคุมปกติ มาใช้ระหว่างที่รอเริ่มยาคุมแผงแรกด้วยนั่นเอง

 

                แต่ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า หากยาคุมฉุกเฉินล้มเหลวในการป้องกัน แม้จะเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนต่อเลย แต่การตั้งครรภ์นั้นก็จะยังคงดำเนินต่อไป

                ซึ่งในกรณีที่พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ก็ควรจะหยุดรับประทานยาคุมรายเดือนทันทีนะคะ

 

                ส่วนความกังวลว่ายาคุมที่ใช้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ก็มีหลาย ๆ การศึกษาที่ชี้ว่า การใช้ยาคุมในช่วงแรกของตั้งครรภ์ หรือเกิดความล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์จากยาคุมที่ใช้ ไม่มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติใด ๆ ต่อทารก

                ดังนั้น แม้จะรับประกันไม่ได้ว่ายาคุมฉุกเฉินจะป้องกันสำเร็จหรือไม่ แต่ในกรณีที่มีความเสี่ยงซ้ำซากจากการมีเพศสัมพันธ์อีกโดยไม่ป้องกัน หรือป้องกันด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ การเริ่มยาคุมรายเดือนแผงแรกทันทีหลังการใช้ยาคุมฉุกเฉิน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารอให้ประจำเดือนมาก่อนจึงค่อยเริ่มใช้

 

                อย่างไรก็ตาม คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการเลือกยาคุมที่มีฮอร์โมน Cyproterone acetate มาเป็นยาคุมแผงแรกที่เริ่มใช้หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน เพราะแม้ว่าจะยังไม่พบความผิดปกติใดในทารกที่มารดาใช้ยาคุมสูตรนี้อยู่ก่อนจะทราบว่าตั้งครรภ์ แต่ก็เคยมีรายงานว่าพบความผิดปกติแบบอวัยวะเพศกำกวมกับตัวอ่อนเพศผู้ในสัตว์ทดลองค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. FSRH guideline: Quick Starting Contraception (April 2017).
  4. Family Planning: A Global Handbook for Providers (2018 update).
  5. Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance 4th edition, 2018.
  6. AAP Committee on Adolescence: Emergency Contraception, 2019.